พักชำระหนี้ช่วยเหลือเกษตรกร

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 โดยมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังไม่ฟื้นตัว

การบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภาระดอกเบี้ย และเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท

มีสถานะเป็นหนี้ปกติหรือเป็นหนี้ค้างชำระหนี้ 0-3 เดือน และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) รวมจำนวนเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.ทั้งหมด 2.698 ล้านราย คิดเป็นต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท

ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้จะได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ตามความสมัครใจ มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567 จำนวน 1 ปี แต่ลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่เป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสรางหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

สำหรับงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี (1 ตค. 2566-30 กย. 2567) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท

โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการจะสามารถคงชั้นหนี้เดิมไว้ได้ตลอดระยะเวลาการพักชำระหนี้และยังได้งดเว้นเบี้ยปรับทั้งจำนวน นอกจากนี้ในระหว่างการพักชำระหนี้ (1 ปี) หากเกษตรกรลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ ธ.ก.ส.ก็จะมีการเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกรได้ด้วย

ที่สำคัญก็คือ ในระหว่างใช้มาตรการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะมีการพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ หรือ Extended Loan ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส.อีกด้วย โดยการให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดทางให้เกษตรกรได้รับเงินเพื่อนำไปประกอบอาชีพเดิมหรือหาอาชีพใหม่ ๆ ในอันที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมและเพื่อนำมาชำระหนี้ในอนาคตได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หัวใจของความสำเร็จในมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ก็คือ การสร้างโอกาสในช่วงระยะเวลา 1 ปี ให้ลูกหนี้มีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มีความสามารถเพิ่มรายได้หรือสร้างอาชีพใหม่ เพื่อที่จะมีรายได้เหลือเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ที่หยุดพักไว้หลัง 1 ปีได้

เพราะอย่าลืมว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการ “พักหนี้” และหยุดดอกเบี้ยไว้ แต่เงินต้น ของลูกหนี้ยังคงอยู่ครบถ้วน ดังนั้น การมีวินัยทางการเงินของเกษตรกรประกอบการสร้างรายได้ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเอาใจใส่ดูแลเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการทั้งหมด