ชุลมุนช่วยตัวประกันคนไทย

Photo by AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส บริเวณฉนวนกาซา ดินแดนของปาเลสไตน์ ยังคงทวีความรุนแรงต่อไป และไม่มีทีท่าว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะหยุดยิง หรือหาทางออกเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยสงครามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 10,000 คน

ขณะที่ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่กลับได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การยิงจรวดโจมตีอิสราเอลตอนใต้ และการบุกของกลุ่มนักรบฮามาส ในวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้คนไทยที่เข้าไปรับจ้างทำงานในพื้นที่เสียชีวิตและถูกจับไปเป็นตัวประกัน

จากจำนวนแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลทั้งหมด 29,900 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 34 ราย บาดเจ็บ 18 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 24 ราย จากจำนวนตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับไปตอนเปิดปฏิบัติการบุกอิสราเอลมากกว่า 200 คน

ล่าสุดมีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศมาแล้ว 8,813 คน จาก 54 เที่ยวบิน ยังคงเหลือแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลอีก 21,138 คน จึงนับเป็น 2 ภารกิจเร่งด่วนลำดับแรกที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการทันที หนึ่งคือความพยายามที่จะ “จูงใจ” ให้แรงงานไทยกลับจากอิสราเอลท่ามกลางภาวะสงครามให้มากที่สุด กับสองความพยายามที่จะหาทางช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถรู้สถานะความเป็นอยู่ของตัวประกันชาวไทยได้

ทว่าความพยายามที่จะช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในปัจจุบันมีการดำเนินการหลายช่องทาง เมื่อเริ่มต้นสงครามรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ มีความพยายามที่จะติดต่อกับรัฐบาลปาเลสไตน์ ผ่านทางสำนักงานปาเลสไตน์ในมาเลเซีย เพื่อขอให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน

พร้อมกับแสวงหาโดยใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตัวประกันชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทางโทรศัพท์โดยตรง ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

การเดินทางไปเยือนประเทศกาตาร์และอียิปต์ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อผลักดันการให้ความช่วยเหลือและการเจรจาให้ปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งเชื่อว่ามีช่องทางสามารถเข้าถึงกลุ่มฮามาสได้

ทว่าในอีกด้านหนึ่งกลับมีความเคลื่อนไหวของนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปยังประเทศอิหร่าน ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหนังสือไปยังตัวแทนกลุ่มฮามาสที่อยู่ในอิหร่าน และมีการหารือให้ปล่อยตัวประกันชาวไทยด้วย

กลับกลายเป็นภาพของการดำเนินการที่หลากหลาย ทั้งวิถีทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ ไปจนถึงการหารืออย่างไม่เป็นทางการของตัวแทนประธานรัฐสภาไทย ที่ยังคงรอคอยผลลัพธ์กันอยู่