ต้องเร่งแก้หนี้สินครัวเรือน

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมของปี 2566 ในประเด็นของหนี้สินครัวเรือน ปรากฏในไตรมาส 3/2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่ารวม 16.20 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3.3 แม้จะชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แต่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศ (GDP) สูงถึงร้อยละ 90.9 ที่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ “ยกเว้น” การก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล

สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จัดเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงสุดของหนี้สินครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 4.6 หรือชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 0.2 หรือลดลงจากร้อยละ 1.0 จากเหตุผลที่ว่า สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยกู้ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 5.6 ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 5.4 จากการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิต

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 3.2 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนในกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวหรือรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต

จากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2566 ยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7.9 จากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อน ซึ่งหมายถึงครัวเรือนบางกลุ่มยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง

ซึ่งเมื่อพิจารณาตามประเภทของสินเชื่อแล้วพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัย กับสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 3.24 และ 3.34 ตามลำดับ เช่นเดียวกับ สินเชื่อยานยนต์ ที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.05 ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 2.1

แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะหนี้ที่มีการค้างชำระ 1-3 เดือน หรือ SMLs ของสินเชื่อรถยนต์ ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนนี้สอดคล้องกับข้อมูลการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000 คันต่อเดือน จากปี 2565 ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือนทีเดียว การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขออนุมัติง่าย ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.2 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น

จึงควรที่จะต้องนำหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมมาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ลูกหนี้เรื้อรังสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ก่อนที่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนจะบานปลายออกไปมากกว่านี้อีก