8 เหตุผลทำไมคนลงทุนใน “ทองคำ”

gold
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
Bnomics ธนาคารกรุงเทพ

ทองจะขึ้นทะลุ 40,000 บาทมั้ย ? น่าจะเป็นคำถามที่เราได้ยินกันบ่อยมากในช่วงนี้ ที่ราคาทองพุ่งสูงทำลายสถิติใหม่ให้เราตื่นเต้น และคอยลุ้นกันอยู่ทุกวันว่า ถ้าไม่เข้าไปตอนนี้จะตกขบวนหรือเปล่า

“ทองคำ” เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกมองว่ามีมูลค่า และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี เหรียญที่มีส่วนผสมของทองนั้น ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ 550 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์ Croesus แห่ง Lydia

ตลอดหลายศตวรรษ ผู้คนพยายามถือครองทองคำไว้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป โดยอาจจะมาจากเหตุผลทางสังคม จนในปัจจุบัน เหตุผลทางเศรษฐกิจก็ได้สร้างมูลค่าให้แก่ทองคำ ทำให้ทองคำกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าอย่างไม่หยุดหย่อน ทองคำมักจะเป็นโลหะมีมูลค่าที่เราจะนึกถึงเสมอเมื่อสกุลเงินในรูปแบบอื่น ๆ มีปัญหาขึ้นมา ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า ทองคำจะมีมูลค่าบางอย่างเป็นหลักประกันเสมอในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี

และนี่คือ 8 เหตุผล ที่ทำไมคนให้ความสำคัญกับการถือครองทองคำ เผื่อหลายคนจะลองทบทวนดูว่าควรจะซื้อทองดีมั้ย

1.การถือครองมูลค่า

ทองคำไม่เหมือนกับเงินกระดาษ เงินเหรียญ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ แต่ทองคำนั้นสามารถรักษามูลค่าของตัวเองผ่านกาลเวลาได้ ผู้คนจึงมักจะมองว่าทองคำเป็นเหมือนสิ่งที่สามารถใช้ส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นได้

2.ความอ่อนแอของสกุลเงินดอลลาร์

ถึงแม้ว่าดอลลาร์สหรัฐ จะกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินสำรองที่สำคัญที่สุดในโลก แต่เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1998-2008 ก็ทำให้คนนั้นหันกลับไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ” ซึ่งนั่นทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงเวลานั้น

โดยสาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าก็คือ การตั้งงบประมาณของประเทศที่ใหญ่เกินไป การขาดดุลทางการค้า และการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ

3.การป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ทองคำถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี เพราะแนวโน้มราคาทองคำนั้นจะขึ้นไปตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนได้เป็นประจักษ์พยานว่าราคาทองคำมักจะขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้นร่วง ในช่วงปีที่เกิดเงินเฟ้อสูง ๆ นั่นก็เป็นเพราะเมื่อเงินกระดาษสูญเสียอำนาจซื้อให้กับเงินเฟ้อ แต่ทองคำยังคงมีมูลค่าเมื่อคิดในหน่วยสกุลเงิน

และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับราคาสิ่งของอย่างอื่น นอกจากนี้ทองคำยังคงทำหน้าที่รักษามูลค่าได้ด้วย ดังนั้นผู้คนจึงมักจะถูกดึงดูดให้ซื้อทองคำ เมื่อรู้สึกว่าสกุลเงินท้องถิ่นนั้นอ่อนค่า

4.ป้องกันความเสี่ยงจากเงินฝืด

“เงินฝืด” หรือสถานการณ์ที่ราคาสินค้าทุกอย่างลดลง กิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัว รัฐบาลมีภาระหนี้ส่วนเกินสูง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราอาจจะไม่เคยได้เห็นเลยนับตั้งแต่ The Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930

ในช่วงเวลานั้น อำนาจซื้อของทองคำก็ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของอย่างอื่น นั่นเป็นเพราะว่าคนเลือกสะสมเงินสด และวิธีที่จะสะสมเงินสดให้ได้มากที่สุดในตอนนั้นก็คือ เก็บในรูปของทองคำและเหรียญทองคำ

5.ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

ทองคำนั้นไม่เพียงแต่จะรักษามูลค่าในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคงรักษามูลค่าของตนเองได้แม้ในยามที่เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย เพราะเมื่อผู้คนพยายามหลบหนีความวุ่นวายทางการเมือง 
เพื่อไปยังที่ที่มีความปลอดภัยมากกว่า ทองคำถือเป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดีที่สุด แล้วทองคำจะยิ่งมีราคาสูงมากขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลต่ำลง

6.ข้อจำกัดด้านอุปทานของทองคำ

อุปทานของทองคำในตลาดตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาจากการขายทองคำแท่งจากห้องนิรภัยของธนาคารกลางทั่วโลก และการขายทองคำออกมานี้เริ่มชะลอตัวอย่างมากในปี 2008 ขณะเดียวกัน การขุดเหมืองทองใหม่ ๆ ก็ลดลง
นับตั้งแต่ปี 2000

ข้อมูลจาก BullionVault ชี้ว่า ปริมาณผลผลิตจากเหมืองทอง ลดลงมาเหลือ 2,444 เมตริกตันในปี 2007 จากระดับ 2,573 ตันในปี 2000 หลังจากนั้นการผลิตทองคำถึงได้เพิ่มขึ้นจนถึงจุดพีกที่ 3,300 ตันในปี 2018 และ 2019 ก่อนที่จะสูงขึ้นไปถึง 3,644 เมตริกตันในปี 2023

การลดลงของการผลิตทองคำในช่วงเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสจะเกิดแรงกดดันต่ออุปทานของทองคำขึ้นมาใหม่ได้อีก ซึ่งก็คงอาจจะใช้เวลาสัก 5-10 ปี ในการทำเหมืองทองใหม่ ๆ เข้าสู่กระบวนการผลิตทองคำ และตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เมื่ออุปทานทองคำมีน้อย ย่อมส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเป็นธรรมดานั่นเอง

7.ความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงปีก่อน ๆ การเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการทองคำ

สำหรับหลายประเทศในกลุ่มนี้ ทองคำถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม อย่างประเทศจีนมีค่านิยมในการสะสมเงินในรูปแบบของทองคำแท่ง จึงมีความต้องการทองคำแท่งอยู่เสมอ ส่วนในอินเดีย ก็เป็นประเทศที่ซื้อทองคำมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยใช้ทองคำในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงเป็นเครื่องประดับ ดังนั้นในช่วงฤดูกาลแต่งงานของชาวอินเดีย คือในเดือนตุลาคมของทุกปี จึงมักจะเป็นช่วงที่อุปสงค์ต่อทองคำในโลกสูงที่สุด

และในหมู่นักลงทุนอุปสงค์ต่อทองคำก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน บางคนเริ่มมองสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทองคำ” เป็นประเภทการลงทุนที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้ SPDR Gold Trust (GLD) จึงได้กลายเป็นหนึ่งในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุด และมีการซื้อขายบ่อยที่สุดในสหรัฐ

8.กระจายความเสี่ยงในพอร์ต

หัวใจหลักในการกระจายความเสี่ยงคือ การเลือกลงทุนในสิ่งที่แต่ละสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันมากเกินไป ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทองคำมีความสัมพันธ์สวนทางกับตลาดหุ้นและเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ