เปิดไทม์ไลน์รับซื้อไฟฟ้า “กกพ.” จับตารัฐ-เอกชนรุมทึ้ง 600 เมกะวัตต์

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้กลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน เพราะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดี และได้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรตามต้นทุนเชื้อเพลิง หรือ Feed in Tariff (FiT) ที่สะท้อนต้นทุนได้ดีขึ้น ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) ฉบับปัจจุบัน ต้องมีกำลังผลิตจากไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวม 16,778 เมกะวัตต์ ซึ่งในปัจจุบันรับซื้อไฟฟ้าแล้วรวม 9,223 เมกะวัตต์ เท่ากับว่ายังคงมีกำลังผลิตเหลืออีก 7,555 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปี”60 จนถึงต้นปี”61

กางแผนรับซื้อไฟเพิ่ม 600 MW

ตามไทม์ไลน์ของ กกพ.จะเริ่มต้นที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 600 เมกะวัตต์ จาก 4 โครงการ คือ 1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ Feed in Tariff ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) สำหรับพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี โดยจะเน้นไปที่ประเภทไบโอก๊าซ กำลังผลิต 78 เมกะวัตต์ ตามมาด้วยโครงการที่เป็น “ไฮไลต์” สำคัญ สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้คือ 2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ SPP Hybrid Firm หรือการผสมผสานการใช้เชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ มีอัตราค่าไฟอยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย สิ่งที่นักลงทุนจับตาคือ “เงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า”

โดยนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้รายละเอียดว่า การรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid Firm ว่า โรงไฟฟ้าต้องเดินเครื่องเต็มที่ 100% ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ส่วนในช่วงกลางคืน หรือ (Off Peak) กำหนดให้เดินเครื่องได้ 60% เพื่อไม่ให้มีไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากจนเกินไป

ในส่วนของโครงการ SPP Hybrid Firm นั้น คาดว่าผู้สนใจส่วนใหญ่คือ กลุ่มโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตช่วงเปิดหีบ และส่วนที่เหลือต้องการขายไฟฟ้าเข้าระบบ โครงการนี้จะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 เท่ากับว่ามีเวลาให้ผู้สนใจเตรียมตัว 2 ปี เพื่อจัดหาที่ดิน จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หากพัฒนาโครงการล่าช้าจากที่กำหนดเอาไว้ กกพ.จะ “ยกเลิก” โครงการทันที

ตามมาด้วย 3) โครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างระเบียบหลักเกณฑ์ คาดว่าจะประกาศรับซื้อในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งผู้สนใจสามารถเลือกประเภทเชื้อเพลิงเองได้ อย่างไรก็ตาม กกพ.จะต้องมีการหารือระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อกำหนดว่าแต่ละพื้นที่เป้าหมายจะใช้เชื้อเพลิงประเภทใด

เงื่อนไขคือ โรงไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องในช่วง 4 เดือนที่มีความต้องการใช้สูงสุด (มี.ค-มิ.ย.) จะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% สำหรับอัตราค่าไฟฟ้า หากเป็นประเภทชีวมวล 4 บาทกว่า/หน่วย ส่วนพืชพลังงาน 5 บาทกว่า/หน่วย และ 4) โครงการโรงไฟฟ้า-ประชารัฐ สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเภทชีวมวล ได้มอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัทลูกของ กฟภ.) เข้าไปร่วมลงทุนกับพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยจะมีการ “กำหนดพื้นที่” ที่ตั้งโรงไฟฟ้าให้ รายใดที่พร้อมก็ยื่นเสนอโครงการได้ คาดว่าจะประกาศรับซื้อไฟได้ในช่วงปลายปีนี้

กฤษฎีกาไฟเขียวผลิตไฟจากขยะ

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชน วางเป้าหมายไว้ 130 เมกะวัตต์ และมีชุมชนที่สนใจยื่นขอรวม 78 เมกะวัตต์ แต่ขณะนี้โครงการชะงัก เพื่อรอความชัดเจนของ “กฎหมายลูก” ที่จะบังคับใช้ควบคู่กับพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด ฉบับใหม่ เพราะเดิมทีโครงการนี้เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ปลดล็อกประเด็นนี้ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ค้างอยู่จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบกลับว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ กกพ.ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟได้ในช่วงต้นปี”61

หนุนพลังงานลมเข้าระบบ

นอกจากการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล ขยะ และไบโอก๊าซที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้นั้น นายวีระพลยังให้ข้อมูลเสริมอีกว่า ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพด้านพลังงานลม รวมถึงผู้ประกอบการก็มีความพร้อมลงทุน ซึ่งในช่วงปี 2558 นั้น กกพ.ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไปแล้ว ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งในขณะนี้มีผลิตเข้าระบบแล้ว ประมาณ 614 เมกะวัตต์ โดยเป้าหมายของการรับซื้ออยู่ที่ 3,000 เมกะวัตต์

โดยส่วนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ประมาณ 1,581 เมกะวัตต์ เท่ากับว่ายังเหลือกำลังผลิตอีก 1,500 เมกะวัตต์ และจะเป็นเป้าหมายของ กกพ. จะต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อไป