ดัน กฎหมายกระจายถือครองที่ดิน ช่วยเกษตรกร-รายย่อย-แรงงาน

เกษตรกร
REUTERS/Chaiwat Subprasom/File Photo
คอลัมน์ ระดมสมอง
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินฯ

รัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. … ประกาศบังคับใช้ เป้าหมายหลักเพื่อเป็นกลไกในการกระจายการถือครองที่ดิน สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินหรืออยู่อาศัย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ผู้ยากจน แรงงานไร้ที่ดิน และองค์กรของคนจนในรูปแบบต่าง ๆ ได้มีสิทธิร่วมกันในที่ดินโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือ หรือหลุดเข้าสู่กลไกตลาด

เป็นการปกป้องที่ดินไว้ให้รายย่อย ผู้ยากจน และแรงงานไร้ที่ดิน โดยใช้ประโยชน์ร่วมกัน และบริหารจัดการร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายแบ่งออกเป็น 6 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวมทั้งหมด 60 มาตรา ประกอบด้วย บททั่วไป มาตราที่ 1-4 โดยให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด 1 การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน มาตรา 5-8 อาทิ เพื่อจัดหาที่ดินของรัฐและเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์ จัดการกระจายการถือครองที่ดินและที่อยู่อาศัยแก่เกษตรกรหรือผู้ยากจน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของเกษตรกรหรือผู้ยากจน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน ฯลฯ

โดยให้สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มีหน้าที่และอำนาจในการถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพย์สิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ ว่าจ้าง รับจ้าง จัดหา หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของสถาบัน รวมทั้งทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ จัดหาที่ดินของรัฐตามที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบมอบหมาย และจัดหาที่ดินเอกชน ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐและเอกชน องค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรชุมชน ในกิจการเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน หรือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินและที่อยู่อาศัย ฯลฯ

หมวด 2 คณะกรรมการบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มาตรา 9-18 หมวด 3 สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มาตรา 19-30 หมวด 4 กองทุนบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน มาตรา 31-35 หมวด 5 การดำเนินงานของสถาบัน มาตรา 36-49 อาทิ

การบริหารจัดการ และการกระจายการถือครอง ให้สถาบันมีอำนาจดำเนินการบริหารจัดการ จัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร และที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยแก่เกษตรกร ผู้ยากจน และองค์กรชุมชน ซึ่งสถาบันจัดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ใช้ประโยชน์ ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด หรือให้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการถือกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน ในกรณีเป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ ที่ดินราชพัสดุ หรือที่ดินที่สถาบันไม่มีกรรมสิทธิ์จะจัดการให้ใช้ประโยชน์ สถาบันต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับประเภทของที่ดินด้วย

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน การสนับสนุนอาชีพ โดยให้สถาบันดำเนินการ อาทิ ไถ่ถอนที่ดินจากการจำนองหรือขายฝาก จากผู้รับจำนองหรือผู้รับซื้อฝาก ซึ่งยังอยู่ในอายุสัญญา ให้สินเชื่อเพื่อการคงสิทธิในที่ดิน ซื้อที่ดินที่เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรและผู้ยากจน แต่ได้สูญเสียสิทธิเพราะการจำนองหรือขายฝากไปแล้วไม่เกิน 10 ปี ซื้อที่ดินที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี หรือจะถูกบังคับคดี ฯลฯ
การสนับสนุนอาชีพ โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่

หมวด 6 การบัญชี การตรวจสอบ การประเมินผลงาน และการรายงาน มาตรา 50-53 และบทเฉพาะกาล มาตรา 54-60 เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้แล้ว ให้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2554 เป็นอันยกเลิก และให้บรรดากิจการ เงินทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ รวมทั้งงบประมาณของสถาบัน ที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตกเป็นของสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน