เรียนออนไลน์อนาคตไทยถอยหลัง

Photo by Christophe ARCHAMBAULT / AFP
บทบรรณาธิการ

โควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้การเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงระดับอุดมศึกษารวนทั้งระบบ สถานการณ์ที่รุนแรงต่อเนื่องส่งผลให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ ตลอดเทอม 1/2564 ที่จะสิ้นสุดปลายเดือน ก.ย.นี้

ส่วนเทอม 2/2564 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. แม้รัฐบาลต้องการให้สถานศึกษากลับมาเปิดได้ตามปกติ โดยจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 4.5 ล้านคน แต่ขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนว่าจะทั่วถึงมากน้อยเพียงใด

“สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า” ที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามผลักดันให้เป็นจริงตามสโลแกนจึงเป็นเรื่องท้าทาย แม้ยังมีคำถามข้อสงสัยโดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สถานศึกษาที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ ต้องอยู่ภายใต้โครงการ Sandbox Safety Zone in School (SSS)

1.เป็นโรงเรียนประจำ 2.เป็นไปตามความสมัครใจ 3.ผ่านการประเมินความพร้อม เท่ากับมีสถานศึกษาจำนวนน้อยเข้าเกณฑ์ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่โรงเรียนประจำไม่เข้าข่าย

ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้การเปิดการเรียนการสอนตามปกติ หรือ on-site จึงอยู่ที่ปัจจัยหลักวัคซีนไฟเซอร์ หากกระจายฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา ครอบคลุมสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนได้เร็วเท่าใด การเรียนการสอน on-site จะเกิดขึ้นเร็วเท่านั้น

เนื่องจากการเรียนที่บ้าน (on-air) เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต (on-line) ผลการประเมินชี้ชัดว่า ด้อยประสิทธิภาพ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้าง และสร้างความเครียดให้กับเด็ก

นโยบายกระจายฉีดวัคซีนไฟเซอร์ลดความเสี่ยงโควิดสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี 4.5 ล้านคน ที่จะนำร่องใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด จึงต้องเร่งขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองโดยเร็ว

สำคัญสุดคือการแปรแผนไปสู่การปฏิบัติ ให้เด็กไทยได้รับวัคซีนถ้วนหน้า ระบบการศึกษาที่สะดุด สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้จะได้เดินหน้าได้

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องถอดบทเรียน พลิกวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส ใช้จังหวะเวลานี้ปฏิรูปรื้อใหญ่การศึกษาไทยทั้งระบบ ปรับให้สอดรับกับบริบทความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งชีวิตวิถีใหม่ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19

บนทางเลือกที่มีไม่มาก และระยะเวลาจำกัด หากผู้รับผิดชอบดูแลนโยบายด้านการศึกษายังคิดทำแบบเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ ใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ทุนมนุษย์กุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจจะยิ่งตกชั้น ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะไม่มีศักยภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขัน