Ha:mo ของขวัญปีใหม่

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย อมร พวงงาม

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2560 ทีมงานโตโยต้าแวะเข้ามาทักทายที่ออฟฟิศ

นอกจากประเด็นใหญ่เรื่องโครงสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ต้นปี 2561 ซึ่งมีการขยับปรับเปลี่ยนกันหลายตำแหน่ง

อีกเรื่องที่ทีมงานโตโยต้าโดยเฉพาะประธานบอร์ด “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ค่อนข้างภาคภูมิใจ

คือ การเป็นผู้นำตลาดรถอีวีหรือรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กก่อนใครในบ้านเรา

หลังจากเปิดโครงการ CU TOYOTA Ha:mo ซึ่งทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

การเปิดตัวรถไฟฟ้า “ฮาโม” เที่ยวนี้ นอกจากฉลองครบรอบ 55 ปีโตโยต้า

และฉลอง 100 ปีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยังเป็นการปลูกฝัง การแบ่งปันใช้รถร่วมกัน หรือ car sharing ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย

เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระยะสั้น จากระบบขนส่งสาธารณะไปยังจุดหมายปลายทาง เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทาง ตอบสนองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมเมือง

และรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ยิ่งอนาคตอันใกล้โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะครบเต็มลูป

เชื่อแน่ว่าผู้คนจำนวนมากจะหันมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางมากขึ้น

ประโยชน์จาก “ฮาโม” ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางระยะสั้นจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายปลายทาง จะเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น

ฮาโมเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามีขนาดกะทัดรัด คล่องตัวและใช้พลังงานไฟฟ้าไม่มาก เหมาะสมกับการใช้งานในระยะทางสั้น ๆ

ระบบการเดินทางแบบฮาโม เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

ในโตโยต้าซิตี โตเกียว โอกายามา และโอกินาวา

ส่วนที่ฝรั่งเศสในเมืองเกรโนเบิล

บ้านเราถือเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่แรกที่โตโยต้านำเอานวัตกรรมนี้มาใช้

คุณนินนาทบอกว่า เบื้องต้นศึกษาระบบ car sharing ไว้ 2 ระยะ ระยะแรกจะเรียกว่าช่วงพัฒนา ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน และจะเพิ่มจำนวนรถอีก 20 คัน ในไตรมาส 2 ของปีนี้ รวมเป็น 30 คัน

หลังจบเฟสแรก จะเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายการให้บริการออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่น ๆ

ตอนนี้ให้บริการครอบคลุมบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฝั่ง มีสถานีจอดรถ 12 สถานี ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 สถานี มีช่องจอดรถ 33 ช่องจอด

เรียกว่าให้บริการทั่วถึง จะไป MRT สามย่าน หรือ BTS ที่สยามสแควร์และสนามกีฬาแห่งชาติ

ฮาโมให้บริการทั้งนิสิต อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป

แค่เป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์ www.cutoyotahamo.com และช่องทางเฟซบุ๊ก cutoyotahamo

หรือสมัครด้วยตนเองที่ชั้น 1 อาคารมหิตลาธิเบศร

เสียค่าสมาชิก 100 บาท ให้บริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม

เก็บค่าบริการ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที เกินจากนั้นคิดค่าบริการเพิ่มนาทีละ 2 บาท

ผู้ใช้สามารถจองใช้งานและชำระค่าใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ตอนนี้มีคอลเซ็นเตอร์ กริ๊งกร๊างได้ที่เบอร์ 0-2305-6733

คุณนินนาทย้ำว่า มีแผนนำงบประมาณที่ได้ไปสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ EV car sharing และอีก ส่วนจะนำมาใช้ใน open platform innovation นำสู่โครงการวิจัยพัฒนาในด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม

เห็นโครงการดี ๆ แบบนี้นอกจากได้พัฒนาทางเลือกใหม่ในการเดินทาง

โอกาสที่จะได้เห็นรถอีวีจากค่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อคงไม่นานเกินรอ