“ไลอ้อน” มุ่งสู่ความยั่งยืน ชูศักยภาพโรงงานสีเขียวเพื่อผู้บริโภค

ปัจจุบันภาคธุรกิจล้วนให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เช่นเดียวกับเครือสหพัฒน์ องค์กรยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย อายุ 81 ปี ก็มีการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าในทุกโรงงานที่อยู่ในเครือให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อก้าวเข้าสู่ Net Zero ในปี 2593

บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ทำการตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำกว่า 100 แบรนด์ สร้างโปรเจ็กต์พิเศษนำเสนอผลิตภัณฑ์ และโรงงานผู้ผลิตที่ขับเคลื่อนธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social, Governance)

ภายใต้การดูแลของ “บีเอสซี อินเตอร์เนชั่นแนล” BSC International ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ ที่มีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ Net Zero ไปพร้อม ๆ กัน โดยหนึ่งในนั้น คือ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อคนไทย

โรงงานผลิตของไลอ้อน ตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดกว่า 1,800 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่ให้ความสำคัญเชิงนิเวศและสิ่งแวดล้อม เน้นพื้นที่สีเขียว อาทิ สวนพระพรหม สนามเด็กเล่น สนามกีฬา ฯลฯ ส่วนโรงงานที่ตั้งอยู่ในเครือมีระบบการผลิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามนโยบายภาครัฐสู่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าไร้คาร์บอน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความสมดุล

สายชล ศีติสาร
สายชล ศีติสาร

“สายชล ศีติสาร” กรรมการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไลอ้อนผลิตสินค้าเพื่อคนไทยมากว่า 50 ปี เดิมชื่อบริษัท เดอะ ไลอ้อน แฟทแอนด์ออย (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และบริษัท เดอะ ไลอ้อน แฟทแอนด์ออย จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตผงซักฟอกและแชมพูในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเริ่มดำเนินกิจการในปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

Advertisment

“จากวันแรกที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคในครัวเรือนมากมาย ทั้งผงซักฟอก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ครีมอาบน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ซึ่งทุกโรงงานผลิตสินค้าของเรามีการใช้พลังงานสะอาด ติดโซลาร์รูฟท็อป พร้อมนำเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นกรีน ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติและ AI มาใช้”

“สายชล” กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ก่อสร้างอาคารธรรมมงคล หรือ Eco Tower หออบผงซักฟอกแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพราะเรามีการผลิตสินค้าส่งออกประมาณ 20% ในหลายประเทศ

เช่น จีน ญี่ปุ่น ลาว เวียดนาม ฯลฯ อนาคตคาดว่าจะมีการขยายตลาดต่อเนื่อง โดย Eco Tower เริ่มการผลิตเมื่อปี 2564 มีกำลังการผลิตสูงสุดในเอเชีย มีคลังเก็บสินค้าสูง 18 ชั้น สามารถบรรจุได้ 3 แสนกล่อง ภายในอาคารได้นำโรบอตมาช่วยในการขึ้นรูปสินค้าด้วย

โรงงานไลอ้อนมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นกรีนเทคโนโลยีที่จะช่วยให้บริษัทเดินบนเส้นทางความยั่งยืน ยกตัวอย่างในส่วนของ Plant การผลิต “ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเอสเซ้นซ์ (Essence)” ที่นี่มีกำลังการผลิต 6,000 หีบต่อวัน ควบคุมคุณภาพการผลิตด้วยพลังงานความร้อน พลังงานลม น้ำ และใช้ของเสียจากการผลิตให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด

Advertisment

ทั้งยังลดการใช้พลาสติกด้วยช้อนตักผงซักฟอกจากช้อนพลาสติกเป็นช้อนกระดาษ ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษ ในส่วนนี้จะช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติกถึง 10.8 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

นอกจากนี้ ไลอ้อนจัดทำโครงการ Wasted Heat and Double Waste Heat ด้วยการนำลมร้อนจาก Sulfonation Plant มาใช้ เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Model Free Adaptive Control ควบคุมการให้ความร้อนในหออบด้วยระบบอัตโนมัติ คุณสมบัติคือมีความแม่นยำสูง

ช่วยลดอุณหภูมิที่ใช้ในการอบผงซักฟอกลงได้ 10 องศาเซลเซียส ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 240 ตันต่อปี จากโครงการการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนทั้งหมด ยังทำให้ผลิตผงซักฟอกมีคุณภาพ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1,500 ตันต่อปี

ส่วน Plant ผลิตน้ำยาซักผ้าแบบแกลลอน น้ำยาซักได้ใช้สารประกอบที่ย่อยสลายตามธรรมชาติ โดยมีเอนไซม์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาด และลดการใช้สารเคมี นอกจากนี้ ในกระบวนการบรรจุยังมีการนำ Pigging System มาใช้ โดยการทำงานของ Pigging จะรีดน้ำยาที่ค้างท่อมาใช้ในการบรรจุ โดยไม่เกิดการสูญเสียผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าได้ 125 ตันต่อปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 17,910 KgCO2 ต่อปี

อีกทั้งยังสามารถลดการใช้ไอน้ำจากการล้างไลน์ท่อได้ 23.7 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดเทียบกับปี 2022 ถึง 48.2 ลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของแพ็กเกจจิ้ง เป็นขวด Light Weight ลดการใช้เม็ดพลาสติกในการผลิต สามารถพับเพื่อทำลาย ช่วยลดพื้นที่ทิ้งขยะ ทั้งยังมีอักษรเบรลล์บนขวด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

นอกจากนี้ โรงงานมีการใช้แพลตฟอร์มชื่อ IDA (Industrial Data Analytics) ใช้พลังงานเทียบกับอัตราการผลิต ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล และประสิทธิผลของกระบวนการผลิต โดยมีความสามารถในการวิเคราะห์ ผลลัพธ์เชิงคาดการณ์ จากเครื่องจักรไปยังเครื่องจักร และแปลข้อมูลแบบ
เรียลไทม์ IDA สามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 15% ต่อปี

ส่วนการบรรจุน้ำยาซักผ้าเอสเซ้นซ์ด้วยเครื่องอัตโนมัติชนิดแกลลอน ทุกขวดจะผ่าน Auto Weight Checker เพื่อควบคุมน้ำหนักบรรจุอย่างแม่นยำ และลำเลียงตามสายพานมายังเครื่องบรรจุลงหีบอัตโนมัติ จากนั้นสินค้าจะถูกจัดเรียงบนพาลเลตโดยโรบอต ผ่านไปยังเครื่อง Auto Wrapping และยานพาหนะรางรถไฟ หรือ RGV (Rail Guided Vehicle) เพื่อลำเลียงสินค้าไปจัดเก็บในคลังสินค้า ด้วยระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ

นงลักษณ์ เตชะบุญอเนก
นงลักษณ์ เตชะบุญอเนก

“นงลักษณ์ เตชะบุญอเนก” ที่ปรึกษาบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า โรงงานมีการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนไปพร้อม ๆ กัน โดยมีการทำงานร่วมกับทีมวิจัยเสมอ

“ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์ซักผ้า ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้น้ำยาซักผ้ามากขึ้น มองว่าตลาดน้ำยาซักผ้ายังคงเติบโตได้ดี ขณะที่เอสเซ้นซ์เรามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดผงที่สามารถละลายน้ำได้ดี ใช้แล้วไม่เป็นคราบผงซักฟอกบนเสื้อ ทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการล้างน้ำลง โดยผลิตภัณฑ์ของเอสเซ้นซ์ทุกแบบก็จะเน้นในเรื่องการถนอมผ้ามากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นนวัตกรรมที่จะนำพาโรงงานของไลอ้อน มุ่งสู่ถนนแห่งความยั่งยืน มีเป้าหมายด้วยว่าภายใน 2-3 ปี เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของตลาด และเป็นฐานการผลิตในเอเชีย ทั้งยังมีแผนจะขยายเรื่องการลงทุนโรงงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง