ส่องสถานะ 17 เป้าหมาย SDGs ของไทยปี 2023 คืบหน้าอย่างไรบ้าง?

ภาพประกอบข่าว ความยั่งยืน Sustainability ธุรกิจสีเขียว

ส่องสถานะ 17 เป้าหมาย SDGs ของไทยในปี 2023 มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง? ชี้ 2 เรื่องมีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของไทย ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบุว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง โดยมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) ความครอบคลุมทางสังคม (Social inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental protection)

ซึ่งในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030

โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน โดยได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ 17 เป้าหมาย

สถานการณ์ SDGs ไทยวันนี้

มาถึงวันนี้สถานการณ์ SDGs ของไทย เป็นอย่างไรบ้าง ? จาก “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Report: SDR) และ SDG Index 2023 (2566) ซึ่งจัดทำโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เครือข่ายนักวิชาการทำงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติ ได้รายงานว่า

“อันดับและคะแนนดัชนีของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่ SDR เริ่มประเมินสถานการณ์ของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 61 คะแนนดัชนีอยู่ที่ 62.6 คะแนน จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันปี 2023 ประเทศไทยอยูู่ในอันดับที่ 43 ของโลก จากทั้งหมด 166 ประเทศ คะแนนดัชนีอยู่ที่ 74.7 คะแนน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.45 เมื่อเทียบกับคะแนนในปี 2016 และยังเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5”

สถานะ SDGs รายเป้าหมายของไทย

เป้าหมายที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) ได้แก่

  • SDG1 ขจัดความยากจน ผ่านการใช้ข้อมูล 2 ตัวชี้วัด คือ 1) อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า $2.15 ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารโลกในปี 2017 2) อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า $3.65 ทำให้ประเทศไทยบรรลุสถานะดังกล่าว
  • SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านการใช้ข้อมูล 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ร้อยละของเด็กอายุ 4-6 ปี ที่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนประถมศึกษา 2) อัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับประถมศึกษา 3) อัตราการสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ 4) อัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15-24 ปี

เป้าหมายที่มีความท้าทายมาก (สีแดง) ได้แก่ 

  • SDG2 ขจัดความหิวโหย มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน และการส่งออกยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตราย
  • SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องอุบัติการณ์ของวัณโรค และอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
  • SDG14 ทรัพยากรทางทะเล ที่มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการคุ้มครอง และดัชนีสุขภาพมหาสมุทรในคะแนนความสะอาดของน้ำทะเล
  • SDG15 ระบบนิเวศบนบก มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่แหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการคุ้มครอง ดัชชีบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
  •  SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน ระดับความชอบด้วยกฎหมายของการเวนคืนและความเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชย

เป้าหมายที่มีความท้าทาย (สีส้ม) ได้แก่ 

  • SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
  • SDG6 น้ำสะอาด และการสุขาภิบาล
  • SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
  • SDG8 งานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • SDG9 โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และอุตสาหกรรม
  • SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
  • SDG11 เมือง และชุมชนที่ยั่งยืน
  • SDG12 การผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน
  • SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในส่วนของ สอวช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งในระดับนโยบาย และการสนับสนุนให้เกิดการนำไปปฏิบัติ อาทิ โครงการที่ช่วยยกระดับปากท้องประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนอย่าง Ecotive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สู่โมเดลพึ่งตนเอง จังหวัดปัตตานี

เพื่อจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องในรูปแบบดิจิทัลให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและการกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อพัฒนาระบบนิเวศการสร้างความเป็นผู้ประกอบการที่สนับสนุนให้ประชากรกลุ่มฐานรากสามารถผลิตสินค้า/บริการบนฐานทรัพยากรที่มีในชุมชน 

โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในการพัฒนาสินค้า/บริการ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางในการยกระดับปากท้องประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน 

โดยการทำให้การหมุนเวียนของเงินในพื้นที่จังหวัดปัตตานีสะพัดโดยการกระตุ้นให้เกิดการค้าขาย การจ้างงาน และการเป็นผู้ประกอบการ เกิดกระบวนการและวิธีการทำงานที่สามารถนำเงินจากนอกพื้นที่เข้ามาสู่คนในพื้นที่ได้โดยใช้ Digital Marketing ผ่านการสร้าง Digital platform การเป็นผู้ประกอบการ

รวมถึงขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้นำชุมชนและเยาวชนในและกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประมง ศูนย์การเรียนรู้ ที่สามารถรวมตัวกันเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือบนการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้ สอวช. ยังร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อออกแบบและพัฒนา BCG Indicator กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนาที่จะต่อยอดและปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย