แก้กฎหมายเปิดทางดึงเงินประกันสังคมใช้จ่าย-ค้ำเงินกู้

ประกันสังคม

ชงแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมบรรเทาความเดือดร้อนจากพิษโควิด เปิด 3 ทางเลือกผู้ประกันตน ให้สิทธิรับบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ ดึงเงินที่จ่ายสมทบไม่เกิน 30% มาใช้ กับใช้เงินสะสมค้ำประกันเงินกู้แบงก์ รมว.แรงงาน “สุชาติ ชมกลิ่น” ดันเข้า ครม. มิ.ย.นี้

นางสาวบุปผา เรืองสุด ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นชอบให้มีการปรับแก้กฎหมายประกันสังคมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวม 3 แนวทาง ประกอบด้วย

ปลดล็อก กม.ช่วยผู้ประกันตน

1) “ขอเลือก” รับเงินจากกองทุนบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ จากเดิมที่กฎหมายระบุว่า หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาเกินกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ประกันตนบางส่วนต้องการเลือกใช้บำเหน็จ

2) “ขอคืน” เงินบางส่วนนำมาใช้ดำรงชีพ หรือนำไปลงทุนทำงานอื่น ๆ ในช่วงที่ไม่มีงานทำ หรือเกิดวิกฤตหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ถูกเลิกจ้างงาน เช่น กรณีการระบาดของโควิด-19 โดยผู้ประกันตนสามารถเรียกขอใช้เงิน “บางส่วน” ก่อน แต่ต้องไม่มากกว่า 30% ของเงินสะสมบำหน็จบำนาญชราภาพ หรือไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน

และ 3) “ขอกู้” โดยใช้วงเงินสะสมของผู้ประกันตนในส่วนของเงินสะสมบำเหน็จบำนาญชราภาพมา “ค้ำประกัน” เงินกู้ ให้ผู้ประกันตนที่เดือดร้อน ซึ่งส่วนนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของสถาบันการเงิน

เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยก้ำกึ่ง

ทั้งนี้ หลังจากกระทรวงแรงงานเห็นชอบร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคมแล้ว ได้เปิด “ประชาพิจารณ์” รับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งองค์กรลูกจ้าง-นายจ้างเข้าร่วม

ขณะเดียวกันก็ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับประเด็นที่ปรับแก้กฎหมายพบว่า จำนวนผู้เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมากที่ 50:50 ฉะนั้นในขั้นตอนการพิจารณาและปรับแก้ไข จะต้องรอบคอบรัดกุมมากที่สุด เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ในการดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกัน

ชงเข้า ครม.เดือน มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ผู้ประกันตนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดิม เช่น สิทธิในการได้รับการเยียวยาว่างงาน สิทธิในการรักษาพยาบาล เป็นต้น ขั้นตอนต่อไปคือ นำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ภายในเดือน พ.ค.นี้

หากบอร์ดเห็นชอบ รมว.แรงงานจะนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มิ.ย. 2564 จากนั้นจะจัดทำร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์เสนอที่ประชุมสภาพิจารณา ก่อนประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

หลักการของเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ แต่เมื่อผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างดีที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดในแง่ของกฎหมาย หากไม่แก้ไขกฎหมายก็ไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนได้เต็มที่

องค์กรลูกจ้างค้าน กม.ใหม่สุดตัว

ด้าน นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์กรลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่ สปส.จะแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนนำเงินสมทบบำเหน็จบำนาญชราภาพมาใช้ก่อนได้ เพราะถ้ากลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ไม่สูงมาก นำ “เงินอนาคต” มาใช้ จะมีความเสี่ยงอย่างมาก

เพราะปัจจุบันสถานะของแรงงานในระบบประกันสังคมถือว่า “หนี้สินรุงรัง” ไม่ว่าจะเปิดให้กู้เงินผ่านช่องทางอย่าง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ นายจ้างเปิดให้ลูกจ้างกู้เงิน ยังไม่นับรวม “เงินกู้นอกระบบ” ส่วนใหญ่แรงงานก็ทำสัญญากู้เงินกับทุกช่องทาง

“ถ้าผมเป็นบอร์ดประกันสังคม ผมไม่ให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านแน่นอน คนรุ่นใหม่ ๆ ยังไม่เข้าใจว่า ความมั่นคงทางการเงินในบั้นปลายของชีวิตมีความสำคัญมาก มองแค่เพียงต้องมีเงินใช้คล่องมือ สปส.จึงต้องให้ความรู้ผู้ประกันตน ให้เห็นความสำคัญของการเก็บออม เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายแม้ว่าไม่มีงานทำ”

จ่ายไม่ขาดเพิ่มเงินชราภาพ

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างจัดทำกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการลดเงินอัตราเงินสมทบ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานเห็นชอบในหลักการให้จ่ายบำเหน็จชราภาพให้ผู้ประกันตน ซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงที่มีการ “ปรับลด” ลดอัตราในงวดเดือน ม.ค. 2564 โดยให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่ม 0.45% ของค่าจ้าง

ในช่วงที่มีการลดอัตรางวดเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 โดยให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มในอัตรา 1.30% ของค่าจ้าง ด้วยการแก้ไขกฎกระทรวงในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 เตรียมเสนอให้บอร์ดประกันสังคมให้ความเห็นชอบเร็ว ๆ นี้

เงินออมเฉลี่ย 1.5 แสน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 กองทุนมีเงินลงทุนสะสมรวมทั้งสิ้น 2,213,478 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล เพื่อนำไปลงทุนสุทธิ 1,459,317 ล้านบาท กำไรจากการลงทุน 754,161 ล้านบาท มีหลักทรัพย์เสี่ยง 23% หลักทรัพย์มั่นคงสูง 77% ส่วนของเงินออมชราภาพอยู่ที่ 1,977,646 ล้านบาท ยอดเงินออมเฉลี่ยของผู้ประกันตนที่ออมไว้กับกองทุนประกันสังคม 153,475 บาท/คน โดยช่วง 3 เดือนแรกปี 2564 ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 17,476 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนปี 2563 ทั้งปีอยู่ที่ 59,188 ล้านบาท