เปิดใจ “ทีมกู้ชีพ” มือหนึ่ง สยามสินธร ซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่

เทอดศักดิ์ มีแสง
เทอดศักดิ์ มีแสง
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

ด้วยขนาดของความใหญ่ และระดับมูลค่าโครงการที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้ “สยามสินธร” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีนโยบายให้บริการที่เป็นเลิศ

ปัจจุบันมิกซ์ยูส “สินธรวิลเลจ” ย่านทำเลหลังสวน พื้นที่ 56 ไร่ มูลค่าเฉียดแสนล้านบาท เปิดให้บริการแล้ว ทั้งคอนโดฯเช่าระยะยาว ระดับซูเปอร์ลักเซอรี่ โรงแรมระดับ 5 ดาว สินธร เคมเปนสกี้ และคิมพ์ตัน รวมถึง “เวลา” พื้นที่ไลฟ์สไตล์ของคนมีระดับ

นอกเหนือจากงานระบบภายในอาคารที่ต้องพร้อม 100% แล้ว ยังมีเรื่องการช่วยเหลือ “ผู้ป่วยวิกฤต” ในภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน พร้อมกับการใช้ “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” หรือ AED อย่างถูกวิธี

เนื่องด้วยกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564) ที่ประกาศมีผลบังคับแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยกำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) หรือ AED เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันนอกโรงพยาบาล

“เทอดศักดิ์ มีแสง” เจ้าหน้าที่ฝ่าย SAFETY กลุ่มสยามสินธร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เพราะทุกชีวิตมีความหมาย และเราไม่รู้ว่าใคร อะไร จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเตรียมพร้อมเท่านั้นที่จะช่วยดูแลกันได้

ยิ่งโครงการเป็น super luxury และเป็น green building ที่ได้รับรางวัล LEED Campus เรายิ่งต้องเอาใจใส่ ซึ่งการติดตั้งและการใช้งานเครื่อง AED จึงมีความสำคัญมาก เป็นการป้องกันการสูญเสียของคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในตึกสูง ถือเป็นนาทีชีวิต ซึ่งสินธรวิลเลจเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีทั้งหมด 3 ตึก สูง 12 ชั้น 15 ชั้น และ 29 ชั้น

รวมถึงผู้เช่าอาคารสำนักงาน (อาคารสินธร วิทยุ) ที่มีทั้งคนไทยและต่างชาติ เช่น FWD มีพนักงานที่เป็นผู้พิการ ทั้งช่วยเหลือตัวเองได้และไม่ได้ ทางผู้บริหารจึงให้ความสำคัญมาก

ทุกชั้นจะกำหนดจุดเซฟโซน จุดนัดพบ เพื่อให้ผู้พิการไปรวมตัวหากเกิดเหตุ ทีมทำงานจะทำงานเป็นกะ และทุก 3 เดือนจะเก็บสถิติของลูกค้าบริษัท เช่น คนตั้งครรภ์ คนสูงวัย แล้วเคสภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันกำลังเป็นโรคยอดฮิต เพราะภาวะช็อกเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ทุกสถานที่

เราจึงต้องเตรียมพร้อมและประสานกับโรงพยาบาลใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ ฯลฯ เพื่อช่วยชีวิตให้ทัน ณ จุดเกิดเหตุ โดยให้น้ำหนักกับการฝึกอบรม การใช้เครื่องมืออุปกรณ์กู้ชีพขั้นพื้นฐานอย่างถูกวิธี และการปั๊มหัวใจให้ชีพจรคืนกลับมา

“ผมเคยเจอเคสแบบนี้ 2 ครั้ง มีเสียชีวิต 1 ครั้ง โดยผู้ป่วยไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน อีกรายรอด และกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ เคสที่รอดมีความโชคดีว่า จังหวะที่กำลังทำ CPR นั้น มีนักเรียนแพทย์เดินผ่านมาพอดี เขาได้แสดงตัวและเข้าช่วยเหลือได้ทัน”

ทีมงานจะได้รับการเทรนทุกเดือน พร้อมพนักงานกลุ่มแม่บ้าน รปภ. คนสวน ฯลฯ ทุกคนต้องเรียนรู้ขั้นพื้นฐานการช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมติดต่อ ส่งต่อผู้ป่วยตามสิทธิ์ ส่วนลูกค้าต่างชาติจะระบุไว้ว่า เมื่อเกิดอะไรขึ้นขอเป็น ambulance อย่างเดียว โดยมีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นพันธมิตรให้บริการ

เราเคยได้รับคำชมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่า ทีมของเราเข้าถึงผู้ป่วยและแจ้งได้เร็ว ใช้เครื่องก็เป็น ทั้งติดต่อวิดีโอคอลกับแพทย์เวร ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยประสบความสำเร็จ

เช่น หน้าโครงการ “เวลา” จะมีความยาว 300 เมตร จุดที่เราติดตั้ง AED คือโถงกลาง นโยบายเราคือภายใน 4 นาทีต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุ คือไป 2 นาที กลับ 2 นาที หรือไป 4 นาทีไม่มีกลับ ระยะนี้จะอยู่ประมาณ 90 เมตร เราจึงติดตั้ง AED ที่มองเห็นง่าย พร้อมเก็บสถิติทุกครั้งเพื่อรายงานผลการปฏิบัติทุกเดือน

ทีมเซฟตี้มีประมาณ 10 คน ดูแลตึกสินธรวิลเลจ ดิโอล์ดสยามฯ อาคารศรีจุลทรัพย์ หลัก ๆ จะวางกำลังพลไว้ที่สินธรวิลเลจ และยังมีสนามโปโลในซอยโปโลหลัง สน.ลุมพินี ด้วย

ล่าสุด ได้ติดตั้งเครื่อง AED 15 เครื่อง ไม่นับรวมของบริษัทลูกค้าในอาคาร โดยทำ MOU ร่วมกัน กรณีพบผู้ป่วยหมดสติและต้องใช้เครื่อง AED ทุกฝ่ายสามารถใช้เครื่องร่วมกันได้ เพราะทราฟฟิกผู้มาใช้บริการวันหนึ่งประมาณ 5,000 คนบวกลบ วันเสาร์-อาทิตย์มีประมาณ 8,000 คน เครื่อง AED และถังออกซิเจนจึงสำคัญ และจำเป็นต้องติดตั้งในจุดที่มองเห็นง่าย สูง 1.50 เมตร หรือต่ำกว่า ตามมาตรฐานเดียวกันกับถังดับเพลิง

เพื่อง่ายต่อการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะทุกชีวิตมีค่า