ตามรอยสถาปัตยกรรมอิตาลีในสยามสมัย ร.5 และ ร.6

สถาปัตยกรรมอิตาลี

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จัดงาน The Ultimate “Walk the Talk” : Italian Architecture and Style in Siam ตามรอยสถาปัตยกรรมและชีวิตช่างอิตาเลียนในสยาม สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 คุณรัตนาวลี โลหารชุน ประธานกิจกรรมโครงการ CU Alumni Connex ภายใต้การบริหารของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมกับ นายอันเดรีย  กนตี้ เลขานุการโทและหัวหน้าแผนกกงสุล สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จัดงาน The Ultimate “Walk the Talk” : Italian Architecture and Style in Siam ผ่านการเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดี “Me and the Magic Door” ตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 โดยมีท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน และนายมาร์โก้ กัตติ ผู้กำกับภาพยนตร์ ร่วมงาน ณ CU Alumni Connex อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

คุณรัตนาวลี โลหารชุน กล่าวว่า The Ultimate “Walk the Talk” : Italian Architecture and Style in Siam เป็นงานแรกหลังเปิด CU Alumni Connex อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา การตามรอยยุคทองของสถาปัตยกรรมในไทยในรัชกาลที่ 5 และ 6 ที่ทรงพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม การเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาถึงทุกวันนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากสถานทูตอิตาลีในการนำภาพยนตร์สารคดี “Me and the Magic Door” ที่เคยฉายในเทศกาลหนังเมืองเวนิสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเมืองตูริน ที่ตั้งสถาบันช่างชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในไทย

สำหรับการเสวนาตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ผ่านภาพยนตร์สารคดี “Me and the Magic Door” ร่วมบรรยายโดย ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

สถาปัตยกรรมอิตาลี

ช่างอิตาเลียน กับ พระราชนิยมและความมั่นคงทางการเมือง

ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง กล่าวว่า ช่างจากต่างประเทศเริ่มเข้าสู่สยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และอยู่นานกว่า 40 ปี ช่างเหล่านี้เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ และมีบทบาทในการสร้างสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมคลาสสิกก็ว่าได้ และที่โดดเด่น คือ ช่างอิตาเลียน

สาเหตุที่ช่างอิตาเลียนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 5 ต้องมองในมิติของการเมืองการปกครอง อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจ มีอาณานิคม แต่อิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีอาณานิคมในภูมิภาคนี้ พระองค์จึงมองว่าไม่เป็นภัยคุกคามต่อสยามมากนัก เนื่องจากช่างเหล่านี้ต้องออกแบบและสร้างอาคารต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะพระราชฐานที่ประทับ

อีกปัยจัยหนึ่ง คือ เป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ที่ได้เดินทางไปหลายประเทศในยุโรป และเห็นว่ารากเหง้าของอารยธรรมตะวันตกคือสถาปัตยกรรมกรีกและโรมัน เรื่อยมาจนยุคเรอเนสซองซ์ ซึ่งช่างอิตาเลียนเป็นต้นตำรับในรูปแบบศิลปกรรมเหล่านี้

ในมิติของสถาปัตยกรรม ช่างอิตาเลียนจะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ โดยเฉพาะงานศิลปกรรม ประติมากรรม และงานหินอ่อนมากกว่าชาติอื่น ๆ และยังมีพัฒนาการสู่นวัตกรรมทางโยธาธิการที่โดดเด่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยทอง และหินอ่อนจากอิตาลี

สถาปัตยกรรมอิตาลี
พระที่นั่งอนันตสมาคม

ปฏิสัมพันธ์ของช่างอิตาเลียนและสยาม

ด้าน รศ.ดร.หนึ่งฤดี เสริมว่า กลุ่มช่างฝีมือของอิตาลีเป็นผลผลิตทางสังคมที่ตกทอดในประเทศมาอย่างยาวนาน และมีผลงานที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรป ยกตัวอย่างเช่น เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อิสตันบูล และบัวโนสไอเรส ที่มีผังเมืองไปจนถึงอาคารเป็นแบบอิตาลี ช่างประติมากรที่เข้ามาทำงานในยุครัชกาลที่ 5 ก็มีบางส่วนที่ทำงานในบัวโนสไอเรสด้วย

ดังนั้น หากกล่าวว่าพวกเขามากรุงเทพฯ อย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวของเมือง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในยุค westernization ที่มองยุโรปเป็นศูนย์กลางและต้นแบบสำคัญ ซึ่งอิตาลีโดดเด่นเรื่องงานช่าง

สำหรับช่างอิตาลีเดินทางเข้ามารับราชการในสยามประเทศ เกิดจากการแนะนำและคัดเลือกโดยศาสตราจารย์ใหญ่ของ 2 สถาบันที่รัฐบาลในสมัยนั้นได้ทำการติดต่อไป คือ Academy of Fine Art และโรงเรียนช่างวิศวกรรมอีกแห่งหนึ่งที่เมืองตูริน โดยใช้เวลาเดินเรือร่วม 30 วัน กว่าจะมาถึงที่อ่าวไทย

สยามในขณะนั้นจ่ายค่าจ้างให้เหล่าช่างอิตาเลียนค่อนข้างสูง เรียกได้ว่าให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียเลยทีเดียว เม็ดเงินเหล่านั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างอิตาเลียน เนื่องจากสยามกำลังเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดในสมัยนั้น จึงดึงดูดเอาคนเหล่านี้เข้ามา

สถาปัตยกรรมอิตาลี
บ้านพิษณุโลก

ช่างอิตาเลียนอาศัยอยู่ในสยามค่อนข้างนาน ต่อสัญญากัน 3-5 ปี หรือเป็น 20 ปีก็มี เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนสยาม แม้จะไม่ได้รู้ภาษากันทุกคน อีกส่วนหนึ่งก็เดินทางไปมา กลับไปยังอิตาลีเพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุโรปมาทดลงใช้ในกรุงเทพฯ บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่ไทยและแปลงสัญชาติเป็นไทยเลยก็มี เช่น แอร์โกเล มันเฟรดี

นับเป็นช่วงถึง 4 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 การจ้างข้าราชการอิตาเลียนนั้นใช้เงินมากดังที่กล่าวไป รัฐบาลสยามจึงจำเป็นต้องค่อย ๆ ส่งคนไปเรียนต่างประเทศเพื่อทดแทนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก็ยังจ้างอยู่เรื่อย ๆ

รวมระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ช่างอิตาเลียนเข้ามาอยู่ในสยาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมในเมืองไทยอย่างชัดเจน ความเป็นตะวันตกได้ถูกปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของไทย ทั้งการใช้งานของเจ้านาย ไปจนถึงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับผลงานของช่างอิตาเลียนที่โดดเด่นในสยามมีหลายรุ่นด้วยกัน รุ่นแรกคือ นายโยอาคิม กรัสซี ตัวอย่างการออกแบบ เช่น กระทรวงกลาโหม ศุลกสถาน และวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ซึ่งเป็นช่างรุ่นบุกเบิกการทำงานในยุคต้นรัชกาลที่ 5

สถาปัตยกรรมอิตาลี
ศุลกสถาน

ต่อมาคือนายมารีโอ ตามัญโญ หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ซึ่งจะรับเอาช่างอิตาเลียนเข้ามาเป็นจำนวนมากในกรมโยธาธิการ ทั้งสถาปนิก วิศวกร ประติมากร รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงมีความประณีตและตรงแบบตะวันตกมากกว่ารุ่นก่อนหน้า ช่างเหล่านี้จะรับราชการต่อมาจนสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ผลงานอาคารอันเป็นที่รู้จัก เช่น วังปารุสกวัน วังลดาวัลย์ บ้านบรรทมสินธุ์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นต้น

ยุคสิ้นสุด

การยุติบทบาทของสถาปนิกและช่างชาวอิตาเลียนเริ่มขึ้นในสมัย ร.6 เมื่อสยามเริ่มพยายามผลิตบุคลากรทดแทน ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ยุคของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่าง อาร์ตเดโค ที่การออกแบบเน้นคอนกรีตเรียบ ตกแต่งลวดลายน้อยลง

สถาปัตยกรรมในช่วงหลัง ๆ จึงผสมผสานและออกแบบตกแต่งให้มีลวดลายน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และเสาสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นต้น ดังนั้นช่างอิตาลีจึงเข้ามาในช่วงสถาปัตยกรรมโบราณกับสมัยใหม่ของเมืองไทย

รศ.ดร.หนึ่งฤดี กล่าวทิ้งท้าย ว่าการศึกษาชีวตและผลงานของช่างอิตาเลียนในสยามเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ แม้บางอาคารจะหายหรือทรุดโทรมไป แต่จะทำให้เกิดการรวบรวมคลังข้อมูลที่รองรับกับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในอนาคตเพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญของประเทศต่อไป “ความทรงจำของเราจะไม่เลือนลาง แม้ประวัติศาสตร์จะลางเลือน”

ทั้งนี้ทางคณะอักษรศาสตร์กำลังรวบรวมข้อมูลจากบ้านของสถาปนิกทุกคนที่เดินทางเข้ามารับราชการในสยามช่วงนั้น เพื่อเป็นคลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม (The Digital Archive of Modernized Siam) ในรูปแบบของดิจิทัล ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ซึ่งรวบรวมได้กว่า 13,000 รายการ และคาดว่าจะเริ่มเปิดสู่สาธารณชนได้ในสิ้นปี 2566