ปฐพีพัฒน์​ เตชะลิ่มสกุล ผู้ผลักดัน EV conversion แปลงรถยนต์น้ำมันสู่อีวี

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่, ปนัดดา ฤทธิมัต
ช่างภาพ : ภิญโญ ปานมีศรี

ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์​ เตชะลิ่มสกุล หรืออาจารย์โดม ประธานหลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์ไฟฟ้ามานานกว่า 20 ปี กับโปรเจ็กต์สำคัญที่กำลังผลักดันในปัจจุบัน “EV conversion” ดัดแปลงรถยนต์น้ำมันเป็นรถ EV 100%

ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตนกำลังทำโครงการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV conversion เปลี่ยนรถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือรถน้ำมันเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% โดยประชาชนยังได้ใช้รถคันโปรดรุ่นเดิม โครงสร้างและระบบความปลอดภัยแบบเดิม แต่เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็นไฟฟ้าใช้มอเตอร์และแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงมาตรฐานเดียวกับแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าระดับท็อป

โครงการ EV conversion มีโมเดลรถยนต์ทั้งเอเชียและยุโรปกว่า 10 รุ่นซึ่งได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายสำหรับใช้เป็นพิมพ์เขียวในการดัดแปลง คำถามที่ต้องเจอคือซื้อรถใหม่ดีกว่าหรือไม่ อ.โดม กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงขึ้นอยู่กับแต่ละคันว่าผู้ใช้ต้องการสมรรถนะมากน้อยเพียงใด บางคนต้องการฟังก์ชั่นสูงราคาก็มากขึ้นแล้วแต่ไลฟ์สไตล์แต่ละคน

โดยมีราคาต่ำสุดตั้งแต่ 300,000 ไปจนถึง 1,500,000 บาทก็มี ซึ่งเป็นรถคลาสสิกที่ได้รับความนิยมในตลาดรถรุ่นเก่า ทั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน ก็สามารถรับรถกลับไปได้พร้อมบริการจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกให้เรียบร้อยในฐานะรถยนต์ไฟฟ้า

“เดิมประชาชนมี 2 ทางเลือก คือ ซื้อรถน้ำมันใหม่หรือเปลี่ยนเป็นอีวีเลย เราจึงอยากเป็นตรงกลาง ได้รถรุ่นเดิมแต่เป็นอีวี นอกจากนี้ยังสานฝันคนรักรถเก่าที่สามารถนำรถมาปรับโฉมอัพเทคโนโลยีและวิ่งได้เหมือนใหม่”

ความปลอดภัยมาตรฐานสากล

เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่อยากนำรถยนต์น้ำมันมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์อีวี อ.โดมเผยว่า การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่แค่เรียนจบสาขาวิศวกรรมเครื่องกลหรือวิศวกรรมไฟฟ้าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำได้ จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ อย่างเคร่งครัด ด้วยทีมวิจัยและพัฒนาที่มีความเขี่ยวชาญ ทำให้รถจากโครงการออกสู่ถนนและใช้จริงในชีวิตประจำวัน

โดยมี 6 มาตรฐานสำคัญ อย่างแรก การดำเนินการโดยบุคลากรที่มีประสบการณ์ ทำงานด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาเป็นเวลานาน มีวิศวกรแบ่งควบคุมเฉพาะด้านบูรณาการตั้งแต่ ยานยนต์ เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ เมคคาทรอนิกส์ แม้กระทั่งอุตสาหการ เป็นต้น

มาตรฐานที่ 2 คือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นและประสิทธิภาพเท่าระดับสากล ผ่านมาตรฐานของไทยรวมทั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ สายไฟ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการรับทั้งแรงดันและกระแสสูงต่ำมากกว่า 200 เส้นอยู่ในยานยนต์ ซึ่งโครงการใช้มาตรฐานสากลระดับแท่นขุดเจาะ มีประสิทธิภาพตั้งแต่กันหนูแทะไปจนถึงไม่ลามไฟ

มาตรฐานที่ 3 การติดตั้งและตรวจสอบเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ดีไซน์จุดจับวางด้านวิศวกรรม การเลือกชนิดและขนาดมอเตอร์และแบตเตอรี่ ต้องมีการเช็กลิสต์เรื่องความปลอดภัยสูงสุดทั้งก่อนและหลังดำเนินการ เนื่องจากรถของผู้ใช้บางคนผ่านการดัดแปลงมาแล้วก่อนหน้านี้

มาตรฐานที่ 4 ทดสอบด้วยอุปกรณ์ระดับสากล เริ่มด้วย Dyno Test เพื่อดูความเร็วสูงสุด อัตราเร่ง และระบบช่วงล่าง ต่อด้วยการทดสอบจริงจากการขับตาม Drive Cycle ในเรื่องระยะการขับขี่ ซึ่งมีทั้งการขับปกติ ความเร็วเฉลี่ย เร่งเพื่อแซง ขับบนพื้นที่ลาดชัน การชะลอ แม้กระทั่งการจอดติดไฟแดง

มาตรฐานที่ 5 เมื่อทดสอบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยจะมีทีมวิศวกรไฟฟ้าและเครื่องกลระดับสามัญเซ็นรับรอง และมาตรฐานที่ 6 รถทุกคันของโครงการจะผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้สามารถขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงได้จริงบนท้องถนนและถูกต้องตามกฎหมาย เป็นรถอีวีที่ดูแลและซ่อมเองโดยคนไทยในประเทศ

มุ่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชน

ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ เผยต่อว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาและวิจัยคือการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าให้ประชาชนว่า รถที่ต้องการจริง ๆ เป็นแบบใด วิ่งไกลเท่าไรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง คำนวณค่าใช้จ่ายการใช้งานและการบำรุงรักษา

ที่สำคัญต้องวางแผนการเดินทาง แม้จะมีการขยายสถานีชาร์จทั้งแบบ DC ที่เป็น Quick Charge ด้วยไฟฟ้ากระแสตรงเฉลี่ยไม่เกิน 2 ชั่วโมง และ AC ที่ชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับแบบธรรมดาใช้เวลาเฉลี่ย 4-9 ชั่วโมง กระจายอยู่ตามปั๊มน้ำมัน หน่วยงานรัฐและเอกชนต่าง ๆ แต่ก็ต้องมีการจองคิว

ดังนั้น ต้องสำรวจพฤติกรรมการใช้รถของตัวเองในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร ขับขี่ใกล้หรือไกล อีกเรื่องคือประกัน จำเป็นต้องดูกรมธรรม์ว่าครอบคลุมเพียงใดและเรื่องศูนย์บริการที่มีความพร้อม

การซ่อมแซมแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งเซตเสมอไป สามารถเปลี่ยนเฉพาะจุดที่มีปัญหาได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา โดย EV conversion มีศูนย์บริการและวิศวกรของตนเองครบวงจร

สำหรับจุดคุ้มทุน ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ กล่าวว่า ถ้าคำนวณจากค่าน้ำมันและค่าไฟในปัจจุบัน อาจมีความต่างกัน 9-10 เท่าเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างรถอีวีและรถน้ำมัน หากใช้รถอีวีจะประหยัดลง 3 แสนบาท ใน 1 แสนกิโลเมตร นี่เป็นคำตอบว่าทำไมยอดจองรถยนต์อีวีในไทยจึงสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เป้าหมายหลักของโครงการ

เป้าหมายหลักของ EV conversion คือการเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเป็นอีวีให้ได้ 3,000 คันภายใน 4 ปีข้างหน้า ตลอดจนพัฒนากำลังคนด้านยานยนต์ซึ่งขาดแคลนมากในไทย สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ต่ออุตสาหกรรมและให้ประชาชนได้ใช้งานจริงไม่ใช่แค่การพัฒนาต้นแบบแล้วเป็นงานวิจัยที่ถูกเก็บขึ้นหิ้ง

สาเหตุที่ต้องผลักดันให้ทุกคนหันมาใช้รถอีวี เนื่องจากต้องการสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ งานวิจัยเผยว่าฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 65-70% เกิดจากมลพิษที่มาจากรถยนต์ นอกจากนี้รถยนต์ 1 คันปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 8 ตันต่อปี หากเปลี่ยนเป็นรถอีวีได้ 1 แสนคันในอนาคต ก็สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 8 แสนตันต่อปี

การที่รัฐบาลสนับสนุนรถอีวี เนื่องจากเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์หลักทั้งไทยและโลก ยอดรถอีวีจึงเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศ แต่ ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ ชี้ว่า เป็นการเติบโตที่เร็วและแรงในแง่ของแบรนด์รถอีวีแต่ไม่ใช่กับอุตสาหกรรมไทย เรายังคงต้องผลักดันและสร้างองค์ความรู้กันต่อไป