ดราม่า “ซอฟต์พาวเวอร์”

ต้องเต-ธิติ ศรีนวล
ต้องเต-ธิติ ศรีนวล

กลายเป็นเผือกร้อน “ต้องเต-ธิติ ศรีนวล” ผู้กำกับภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” เปิดใจเรื่องการผลักดันหนังไทยให้เป็น Soft Power สู่การโกอินเตอร์ของหนังไทยทั่วไป

“ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสัปเหร่อ ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป แต่อยากเป็นกระบอกเสียงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถ้าไม่มีระบบมารับรองทัน อาจจะเสียโอกาสได้”

จากใจไม่กี่ประโยคก็ทำให้เกิดดราม่าในพริบตา โดยเฉพาะโลกโซเชียลและคอลัมนิสต์ จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจสร้างความร้าวฉานได้

เพราะวาทกรรมประโยคเดียว “ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป”

ร้อนถึงฟากรัฐบาล และบุคคลสำคัญ ๆ ที่เคยเรียงรายถ่ายรูป ยืนยิ้ม หลังดูหนังเรื่องนี้จบ

“ต้องเต” จึงเป็นทั้งวีรบุรุษและผู้กำกับปากร้ายในชั่วข้ามคืน เป็นปมประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ขณะที่หนังสัปเหร่อยังวิ่งทำรายได้แตะ 800 ล้านบาทแล้ว

ขณะเดียวกัน นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตศิลปินชื่อดัง โพสต์ใน fb ชี้แจงเชิงตอบโต้

ข้อแรก – เพื่อไทย เขาเพิ่งเป็นรัฐบาลครับ ต้องเต

ข้อสอง – ถ้าไม่ให้เขาถ่ายรูป หรือร่วมยินดีด้วย จะให้เขาเพิกเฉย หรือไม่สนใจเหรอ ? ในฐานะรัฐบาล

ข้อสุดท้าย – ฟังบทสัมภาษณ์แล้วสรุปว่าไม่เข้าใจ คำว่า Soft Power จริง ๆ นั่นแหละ จะโกอินเตอร์ รู้ไหมต้องประสานกับอะไร จะไประดับนานาชาติ รู้ไหมว่าต้องผ่านหน่วยงานไหน

ทำให้ “ต้องเต” รีบเปิดใจอีกครั้งว่า “ไม่อยากให้เกิดดราม่ารุนแรงขนาดนี้ สิ่งที่ผมพูดไป โดยไม่รู้ระบบและไม่เข้าใจระบบการดำเนินการของภาครัฐ ผมอาจจะใจร้อนด้วย”

ก่อนหน้านี้ ไม่รู้จริง ๆ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร และหลัง ๆ ไม่เข้าใจด้วยว่า ความรู้เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ที่เรารู้นั้น ถูกหรือไม่

“สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ ผมแค่รู้สึกว่า มันคือกระบวนการที่ทำให้เกิดค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมขอขอบคุณ และยินดีที่มีคนบอกว่า หนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่แค่งง เพราะรู้สึกว่าถ้าคนทำงานเข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไร ผมอาจจะทำการบ้านและทำให้หนังเรื่องนี้ไปได้ไกลขึ้น”

ในที่สุด คอนเทนต์วาทกรรมประโยคเดียว ก็กลายเป็น “อดีต”

แต่กลับเป็นสิ่งที่คนทั่วไป “อยากค้นหา” เลยทำให้หนังเรื่องสัปเหร่อ มีคนอยากดูมากขึ้นไปอีก

ส่วนคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ใครจะลึกซึ้ง และเข้าถึง “ความหมาย” ได้มากกว่ากัน เราคงต้องค้นคว้าหาคำตอบ รอผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

ทำให้นึกถึงคำกล่าวเปรย ๆ ของ “อุดม แต้พานิช” ที่เคยย้ำปรัชญาแสบ ๆ คัน ๆ ไว้ว่า

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ดีงาม ใช่หมด

สนุกกับความผิดพลาด

“ความสมบูรณ์แบบนั้น น่าเบื่อ”