รู้จัก ‘ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด’ อาการ สาเหตุ วิธีการรักษา

ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด
ภาพจาก Pexels

รู้จัก “ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด” คืออะไร อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาเป็นอย่างไรบ้าง แพทย์ระบุไม่ได้พบแค่ในผู้สูงอายุเท่านั้น คนวัยทำงานหรือนักกีฬาก็เป็นได้

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 “ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด” เป็นอย่างไร “นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์” ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์/เวชศาสตร์การกีฬาศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน ระบุในบทความ “ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด ปล่อยเรื้อรังเสี่ยงข้อหัวไหล่เสื่อม” ว่า เส้นเอ็นไหล่คือเส้นเอ็นขนาดเล็ก 4 เส้นที่อยู่บริเวณรอบข้อไหล่ โดยเส้นเอ็นกลุ่มนี้เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากกล้ามเนื้อสะบัก ทอดผ่านข้อไหล่และยึดเกาะส่วนบนของกระดูกต้นแขน โดยทำหน้าที่ช่วยในการขยับไหล่ เช่น กางแขน ยกแขน หมุนไหล่ เป็นต้น

หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือเกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสี กล้ามเนื้อ และเอ็นหุ้มข้อเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดเส้นเอ็นไหล่เสื่อม หรือเปื่อยจนฉีกขาดได้

โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการซักถามอาการและการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่ และระยะเวลาที่เกิดอาการ โดยอาจไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีกระดูกงอกบริเวณใกล้เคียงกับเส้นเอ็นไหล่ หรือมีหินปูนเกาะไหล่ และทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกับเส้นเอ็น

หรือสงสัยการมีโรคหรือภาวะอื่น ๆ ของกระดูกและข้อไหล่ มีอาการปวดเรื้อรัง รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้ ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อยจนฉีกขาด ไม่ได้พบแค่เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่กับคนวัยทำงานทั่วไป นักกีฬา รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาหนัก ๆ หากมีพฤติกรรมการใช้ไหล่อย่างไม่เหมาะสมก็เกิดภาวะนี้ได้ โดยภาวะนี้จะส่งผลให้มีอาการปวดไหล่เรื้อรัง อาจจะมีอาการปวดร้าวลงมาที่แขน หรือปวดตอนเวลากลางคืนร่วมด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษาก็อาจทำให้เป็นข้อหัวไหล่เสื่อมก่อนเวลาอันควรได้

สาเหตุภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

ภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อมมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็นไหล่เสื่อมตามอายุการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุที่เคยใช้งานข้อไหล่หนักมาก่อน การใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสมทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาด กระดูกงอกที่ข้อไหล่กดทับเส้นเอ็นไหล่

หรือจะเป็นภาวะหินปูนเกาะที่กระดูกคลุมหัวไหล่ หรือลักษณะของปุ่มกระดูกคลุมหัวไหล่กดจิกเส้นเอ็นไหล่ ทำให้เกิดการเสียดสี และเมื่อเกิดการเสียดสีบ่อย ๆ ทำให้เนื้อเอ็นเกิดอาการเปื่อย เสื่อม จนฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบข้อหัวไหล่ได้

นอกจากนี้ ยังเกิดได้จากคุณภาพของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นไหล่ลดลง ซึ่งสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ทำให้เอ็นหัวไหล่บาดเจ็บได้ง่าย แต่การสมานตัวเองหลังการบาดเจ็บทำได้ไม่ดี เกิดภาวะเสื่อม หรือฉีกขาดได้ง่าย

อาการเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

สำหรับอาการเส้นเอ็นไหล่เสื่อม นพ.ประกาศิตระบุว่า จะมีอาการปวดไหล่เป็น ๆ หาย ๆ และอาจเรื้อรัง มีอาการปวดร้าวลงมาที่แขน หรือปวดตอนเวลากลางคืนร่วมด้วย มีอาการขัด ขยับไหล่ลำบาก หรือบวมบริเวณไหล่ ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นอย่างช้า ๆ

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดเมื่อยมีการใช้หัวไหล่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกไหล่เหนือศีรษะ โดยอาการปวดทำให้การขยับข้อหัวไหล่ลดลง หรืออาจจะมีอาการอ่อนแรงยกไหล่ไม่ขึ้น ในรายที่มีเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อย จนฉีกขาดของเส้นเอ็นทั้งหมดอาจจะพบมีกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวไหล่และสะบักลีบเล็กลงได้

การรักษาภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม

นพ.ประกาศิตระบุว่า เมื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วว่ามีภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อม เปื่อย หรือฉีกขาด กระบวนการรักษาจะมีรูปแบบที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน 2 แนวทางหลัก ๆ ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ดังต่อไปนี้

1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

การรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะเป็นการรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่ได้รุนแรงมาก โดยแพทย์จะแนะนำการรักษา ได้แก่

การพักและปรับเปลี่ยนการใช้งาน เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงงานที่ต้องยกแขนสูง รักษาด้วยการประคบร้อนหรือเย็น การรับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ ในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย

แต่ถ้าเป็นมาก ปวดมาก แพทย์อาจพิจารณาใส่เฝือกอ่อนเพื่อให้อวัยวะนั้นได้พัก ลดการขยับ แต่จะใส่ระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะได้ไม่เกิดภาวะข้อยึดติด

2. การรักษาแบบผ่าตัดส่องกล้องซ่อมเส้นเอ็นไหล่

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากรักษาเบื้องต้นแล้วไม่หาย หรือมีภาวะเส้นเอ็นไหล่เสื่อมจนฉีกขาด แพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery) ซึ่งจะเป็นวิธีผ่าตัดเย็บซ่อมเส้นเอ็นที่ขาด หรือสร้างเอ็นใหม่ โดยนำเส้นเอ็นจากบริเวณอื่นมาทดแทน

โดยที่ศัลยแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กแล้วใช้กล้องขนาด 4 มิลลิเมตรส่องเข้าไปดูภายในบริเวณที่มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น ภาพที่ได้จะถูกส่งขึ้นจอภาพที่อยู่ในห้องผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งมาช่วยเสริมในการจับและเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาด โดยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องจะมีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีรอยโรคมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ การผ่าตัดส่องกล้องจะมีข้อดีตรงแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญกับอาการปวดแผลหลังผ่าตัด เพราะใช้เทคนิคการระงับความเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัดด้วยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้รวดเร็ว