กอนช.ประกาศ เขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤต การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ 7 ต.ค. 65 ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนมีระดับน้ำสูงขึ้น อำเภออุบลรัตน์ เขาสวนกวาง ซำสูง น้ำพอง เมืองขอนแก่น และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี
วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ประกาศจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องในวันนี้ (6 ตุลาคม 2565) มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ ประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถระบายออกได้เพียงวันละ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มจนเกินระดับเก็บกักสูงสุดและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับน้ำ +183.35 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 1.15 เมตร ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 2,878 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 119 มีปริมาตรเกินความจุ 458 ล้านลูกบาศก์เมตร
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤตหรือสูงกว่าคันดินโนนสัง ซึ่งเป็นคันดินป้องกันชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขื่อนอุบลรัตน์ ดังนี้
1.ระดับน้ำจะสูงถึงระดับเตือนภัย (+183.50 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565
2.ระดับน้ำจะสูงถึงระดับวิกฤต (184.00 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง) ในวันที่ 8 ตุลาคม 2565
เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้นและอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณอำเภออุบลรัตน์ เขาสวนกวาง ซำสูง น้ำพอง และเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
2.เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการหน่วงน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ให้เตรียมป้องกันระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่
4.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า