นิสสัน จับมือ กฟผ. ศึกษา-ทดสอบจ่ายไฟจากรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า

นิสสัน ประเทศไทย จับมือ กฟผ. ศึกษาและทดสอบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลายคันสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน ผ่านระบบ EGAT V2G & VPP ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่องศึกษาการแปลงพลังงานระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจากศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ โดยมี นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมในพิธี

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิสสันดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานานถึง 70 ปี เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่นิสสันเป็นผู้นำที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงทั่วโลก ประกอบกับวิสัยทัศน์ Ambition 2030 ของนิสสันที่ตั้งเป้าหมายจะมุ่งมั่นพัฒนารถยนต์และเทคโนโลยียานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“นิสสันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 แลหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ให้ไทย และสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ต่อไปในอนาคต”

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นิสสัน ประเทศไทย และ กฟผ. จะร่วมกันศึกษาจ่ายไฟฟ้าจากจากแบตเตอรี่ของรถยนต์นิสสันลีฟ (Nissan LEAF) เข้าสู่ระบบไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง โดยรถยนต์นิสสันลีฟเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (Bi-directional Charging)

คือ นอกจากชาร์จไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้า ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่น Quasar จากแบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานสุดอัจฉริยะระดับโลกที่นำเข้าและให้บริการหลังการขายโดยบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี พ.ศ. 2593

“กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าและการบริหารจัดการพลังงานรองรับการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G)”

โดย กฟผ. ได้พัฒนาออกแบบระบบ EGAT V2G & VPP ซึ่งเป็นระบบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถอีวีหลาย ๆ คัน กลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน และส่งกำลังไฟฟ้าไปยังศูนย์สั่งการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center หรือ DRCC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. สอดรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) รองรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในอนาคต เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

ซึ่งเป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญสำหรับการศึกษาเทคโนโลยี V2G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้จัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตต่อไป

โดยในวันเดียวกันนี้ นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนางสาวชารอน หยวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท Hashstacs Pte Ltd. หรือ STACS ประเทศสิงคโปร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ด้วยนวัตกรรม มุ่งสู่ความยั่งยืนระดับอาเซียน

“กฟผ. ในฐานะผู้ออกใบรับรอง (Local Issuer) การผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพียงรายเดียวของไทย ได้ร่วมกับ STACS ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการรวบรวมและติดตามมาตรฐานด้านความยั่งยืน การเงิน และสิ่งแวดล้อม นำบล็อกเชนแพลตฟอร์ม ESGpedia มาใช้ตรวจสอบย้อนกลับข้อมูล REC ของไทย เพื่อช่วยป้องกันการนับซ้ำ (Double Counting) และเสริมสร้างความมั่นใจถึงกระบวนการออกใบรับรอง REC เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายความยั่งยืน”

ด้านนางสาวชารอน หยวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ของ STACS กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์ม ESGpedia เป็นระบบที่รวบรวมการออกใบรับรองด้าน ESG ตามมาตรฐานสากล รวมถึงทะเบียนคาร์บอนเครดิตสากล โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) และ REC ที่บริษัทชั้นนำ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เชื่อถือและใช้ในการรายงานกับมาตรฐานการรายงานในระดับสากล เช่น RE100, CDP เป็นต้น โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสองหน่วยงานจะช่วยผลักดันความน่าเชื่อถือในตลาดใบรับรองการผลิตจากพลังงานหมุนเวียน และผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality