ไทย-เวียดนาม ชื่นมื่นกระตุ้นการค้า 2.5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2025

ไทย-เวียดนาม

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จับมือหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เปิดศักราชใหม่ กระตุ้นการค้าทะลุเป้า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม เปิดเผยว่า ภายหลังสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย จัดสัมมนา Thailand-Vietnam Business Forum 2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยได้รับเกียรติจากนายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นำคณะ ภาครัฐและเอกชนเวียดนามเข้าร่วม ประกอบด้วย นายเจิ่น กว๊วก เฟือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน นายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย และนายฟาม ตั่น กง ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม

ส่วนฝั่งไทยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาร่วมในงาน โดยงานดังกล่าวเป็นเวทีสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม เพิ่มศักยภาพในความร่วมมือของภาคธุรกิจของ 2 ประเทศในทุกมิติ ภายในงานมีภาคธุรกิจชั้นนำ ทั้งไทยและเวียดนาม รวมถึงคนไทยเชื้อสายเวียดนามเข้าร่วมกว่า 400 คน

นายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวเน้นย้ำว่า ไทยคือประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามแล้วกว่า 670 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด ซึ่งไทยและเวียดนามตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้มูลค่าการค้าของ 2 ประเทศถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงเกินเป้าได้ถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นของ 2 ประเทศนับจากนี้ไป

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไทยและเวียดนาม มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในมิติใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งได้พัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม หรือ Cross-border QR Payment ซึ่งสามารถใช้งานจริงได้แล้ววันนี้

นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางเวียดนาม ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2019 และถือเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน ASEAN Payment Connectivity เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของระบบการเงินในภูมิภาค

ในส่วนของภาคเอกชนไทยนั้น นายสนั่นกล่าวว่า การเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีเวียดนามในรอบ 24 ปี นับเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ

โดยในโอกาสนี้ ภาคเอกชนไทยและเวียดนาม ยังได้ร่วมกันลงนาม บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม เพื่อยกระดับความร่วมมือของเอกชน และตอบโจทย์รูปแบบการค้าการลงทุนในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่ม Micro SMEs และ Startup ของไทยและเวียดนามให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

รวมถึงที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมบทบาทกลุ่มสตรีและกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ให้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของเวียดนาม หรือ Vietnam Young Entrepreneurs Association (VYEA) ดังนั้น เชื่อว่านับจากนี้ไทยและเวียดนามจะร่วมกันยกระดับความร่วมมือในลักษณะของ Vietnam-Thailand Economic Connectivity กันในทุกระดับ ทั้งระดับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างแท้จริง

นายฟาม ตั่น กง ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกชนเวียดนามมีความต้องการร่วมมือกับภาคธุรกิจไทย ในการลงทุนด้านธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจพลังงาน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่มีความสวยงามและมีความพร้อมในแง่การลงทุนและการอำนวยความสะดวก ซึ่งการเดินทางเยือนไทยและร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงของเอกชน 2 ประเทศในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนการค้า การลงทุน ให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่ทั้ง 2 ประเทศมุ่งหวังไว้

การจัดสัมมนา Thailand-Vietnam Business Forum 2022 เกิดขึ้นภายหลังที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนไทย กับหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม หรือ VCCI ที่เป็นผู้แทนภาคเอกชนเวียดนาม ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนของ 2 ประเทศ

โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ การปรับปรุงความร่วมมือระหว่างเอกชน 2 ประเทศให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์รูปแบบการค้าการลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับ BCG Model (Bio-Circular-Green) ที่เป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของไทยกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนาม

โดยได้รับเกียรติจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแลกเปลี่ยนความตกลง และแถลงการณ์ร่วมกระชับความสัมพันธ์ทุกสาขา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล