จับตาดีล “บางจาก-เอสโซ่” เข้าเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด

บางจาก เอสโซ่

บอร์ดแข่งขันทางการค้า (กขค.) มอนิเตอร์ดีลควบรวม บางจาก-เอสโซ่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ หลังวงการน้ำมันจับตาธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะเหลือคู่แข่งลดลงจาก 4 เหลือ 3 ราย เข้าเกณฑ์ “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” ตาม พ.ร.บ.แข่งขันฯ ต้องยื่นขออนุญาตบอร์ด ด้าน “พีทีจี” มองเป็นการลดคู่แข่งค้าปลีกผ่านสถานีบริการน้ำมัน ส่วน OR พร้อมแข่งขัน ใช้จุดแข็งธุรกิจน็อนออยล์เสริมความแข็งแกร่งสู้ศึก

ดีลการรวมธุรกิจหลังบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 65.99% ของหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. หรือ ExxonMobi ด้วยมูลค่า 55,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราคาหุ้น 8.84 บาท ในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ บริษัท บางจากฯ ได้โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ศรีราชา ขนาดกำลังการกลั่น 177,000 บาร์เรล/วันมารวมไว้ในกลุ่มธุรกิจการกลั่นด้วย

ส่งผลสำคัญให้ธุรกิจต้นน้ำการกลั่นน้ำมันมีผู้เล่นลดลงจากเดิม 4 กลุ่มบริษัท เหลือเพียง 3 กลุ่มและสร้างความกังวลในแง่ของการผูกขาดแข่งขันให้กับผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำเข้ามาไว้ในกลุ่มบางจากด้วย ส่งผลให้ภาพรวมตลาดต้นน้ำ ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมี “ผู้เล่น” ลดลงเหลือเพียง 3 บริษัท (ตารางประกอบ)

โรงกลั่นเหลือ 3 กลุ่มหลัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัจจุบันธุรกิจการกลั่นน้ำมันในประเทศจะเหลือเพียง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่ม บมจ.ปตท. ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมัน IRPC, PTTGC และไทยออยล์ มีกำลังการกลั่นรวมกัน 770,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 61.9% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด 2) กลุ่มบางจาก รวมกับเอสโซ่ จะมีกำลังการกลั่นรวมกัน 297,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 23.9% และ 3) โรงกลั่นน้ำมัน SPRC กำลังการกลั่น 175,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 14%

หลังควบรวมโรงกลั่นน้ำมันระหว่างบางจากและเอสโซ่ ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำครั้งนี้ ทำให้เหลือผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันเพียง 3 กลุ่ม จะเข้าข่ายนิยาม “การมีอำนาจเหนือตลาด” ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า และจำเป็นที่บริษัทควบรวมจะต้องยื่นขออนุญาตต่อ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ด้วย

ทั้งนี้ นิยาม “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” ตามมาตรา 50 ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยแบ่งลักษณะการพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของ สินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

กับกรณีที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกัน 75% และมียอดเงินภายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมา ไม่ถึง 10% ก็จะได้รับการ “ยกเว้น” ไม่เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

“เคสบางจาก-เอสโซ่ เมื่อดูข้อมูลเบื้องต้นอาจเรียกว่า เข้าข่ายกรณีที่ 2 รวมกัน 3 ราย มีส่วนแบ่งตลาด 75% ซึ่งต้องยื่นขออนุญาตหลังประกาศควบรวม 7 วัน แต่การพิจารณาจะดูภาพรวมทั้งธุรกิจ และต้องเข้าใจก่อนว่า การมีอำนาจเหนือตลาด ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หากไม่ได้ไปใช้อำนาจเหนือตลาดทำในสิ่งที่ผิด”

กราฟฟิกโรงกลั่น

กรรมการแข่งขันจับตา

ด้าน ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีควบรวมโรงกลั่นน้ำมันบางจาก-เอสโซ่ จะเข้าข่าย มาตรา 51 ตาม พ.ร.บ.แข่งขันฯ (พฤติกรรมการควบรวม) ซึ่งมี 2 กรณีคือ รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท และส่วนแบ่งตลาด แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลว่า ทั้ง 2 กิจการเมื่อควบรวมแล้วมูลค่าตลาดเท่าไหร่ สัดส่วนตลาดเท่าไหร่ ยังไม่เห็นข้อมูลว่าจะเข้าวรรค 1 หรือวรรค 2 ต้องขอเวลารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลก่อน

“เราทราบเพียงว่า บริษัททั้ง 2 ตกลงกันไปแล้ว แต่โดยหลักการแล้วควรต้องติดต่อมายัง สำนักงานแข่งขันทางการค้า ด้วย เพราะกรณีงโรงกลั่นน้ำมันบางจาก-เอสโซ่ เข้าข่ายแน่นอน ตอนนี้สำนักงานยังไม่ได้รับเรื่อง หากมีการยื่นเรื่องมาต้องดูก่อนว่า อำนาจตลาดของทั้ง 2 เข้าเกณฑ์ที่สำนักงานต้องมาพิจารณาอนุญาตด้วยหรือไม่ หรือเพียงแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น เพราะขอบเขตการประกอบธุรกิจน้ำมันมีหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ซื้อน้ำมัน ขายน้ำมัน เเล้วก็กลั่นน้ำมัน มีรายละเอียดข้างในค่อนข้างมาก เท่าที่ทราบจากสื่อคือเป็นการซื้อทั้งหมด และในตลาดเท่าที่ทราบ มีผู้ที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่ คือ ปตท. แต่ยังมี พีที คาลเท็กซ์ ก็ต้องศึกษาภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำด้วย” ศ.ดร.สกนธ์กล่าว

ผู้ค้าน้ำมันดิ้นแก้เกม

ด้าน นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ดีลการควบรวมเอสโซ่ ในส่วนต้นน้ำของธุรกิจโรงกลั่น การควบรวมไม่ใช่การยุบหรือปิด จะไม่มีผลต่อกำลังการผลิตในภาพรวมของประเทศ เพราะปริมาณซัพพลายยังผลิตเท่าเดิม ขณะที่พีทีเป็นผู้ซื้อน้ำมันจากทุกโรงกลั่น “ยกเว้น” โรงกลั่นน้ำมันบางจาก เพราะเดิมบางจากผลิตเต็มกำลังการผลิต ใช้เอง ไม่เหลือขาย แต่หากในอนาคตหลังการควบรวมครั้งนี้ กลุ่มโรงกลั่นบางจากมีกำลังการผลิตเหลือ ทาง PTG ก็อาจจะซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นบางจากด้วย

ส่วนภาพการแข่งขันในตลาดค้าปลีก “ก็ไม่ได้เปลี่ยน” อาจเรียกว่า การรวมเป็นการลดคู่แข่งค้าปลีก จากเดิมมีค่ายหลัก ๆ ปตท.-เอสโซ่-เชฟรอน-บางจาก-เชลล์ และพีที หลังรวมกันจะหายไป 1 ราย จาก 6 รายเหลือ 5 ราย คือ บางจาก เชลล์ เชฟรอน ปตท. พีที ในมุมการแข่งขันจะถามว่า “รุนแรงไหม” ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ในส่วนของค่ายต่างชาติจะมี เชลล์ กับคาลเท็กซ์ เชฟรอน ซึ่งวันนี้ SPRC ซื้อไปแล้ว ส่วนกลุ่มทุนไทยจะมี ปตท. บางจาก พีทีและซัสโก้ แน่นอนว่ามาร์เก็ตแชร์เปลี่ยนจากเดิมเบอร์ 1 เป็น ปตท. พีทีเป็นเบอร์ 2 เบอร์ 3 บางจาก และเบอร์ 4 คือ เอสโซ่ เมื่อเบอร์ 3 กับ 4 รวมกันบางจากก็ขยับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2

“นโยบายของพีที ไม่ได้ไปแข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเองมาตั้งแต่ปี 2551 แผนขยายสาขาก็คงขยายตามปกติ แต่อาจไม่มากเหมือนในอดีต เพราะสถานการณ์ตลาดค้าปลีกน้ำมันจะเริ่มเห็นว่า ยอดรถ EV มากขึ้น ดังนั้นการขยายสาขาจึงต้องเลือกโลเกชั่นที่ดีขึ้น เพื่อให้ยอดขายต่อสาขาดีขึ้น ปีนี้ทำได้ส่วนแบ่ง 17% ปีหน้าทำอย่างไรให้ได้ 20% เชื่อว่าจากนี้ไป 10 ปี ภาพการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจน้ำมันก็คงไม่ได้เป็น 0 จะเหลือ 30-40% แต่ถ้า 20-30 ปี ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปอีก” นายพิทักษ์กล่าว

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ค้าน้ำมันมองว่า ในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ “ซัพพลายโรงกลั่น” ของประเทศไทยขณะนี้มีกำลังการผลิตเกินความต้องการใช้ (ผลิตได้ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ใช้ 1.0-1.1 ล้านบาร์เรล) ดังนั้นต้องกระจายการซื้อขายน้ำมันสำหรับสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ กันอย่างไรเพราะ “ลูกค้าเท่าเดิมไม่ได้มากขึ้น” ความท้าทายต่อจากนี้ไปก็คือ หากในอนาคตเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า มีการ “จำกัด” การเข้าถึงน้ำมันของโรงกลั่นเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของผู้ค้าน้ำมันแต่ละราย แล้วจะทำอย่างไร

ทางเลือกที่เป็นไปได้และเริ่มมองไว้แล้วคือ การให้ “พันธมิตร” ซึ่งอาจเป็นโรงกลั่นน้ำมัน เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป และอาจต้องไปแก้ไขกฎหมายที่ยังคุ้มครองโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในข้อจำกัดที่ว่า หากจะนำเข้าน้ำมันเข้ามาในประเทศต้องเพิ่มสต๊อกน้ำมันสำรอง 2% ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นอุปสรรคของผู้นำเข้าในอนาคต

ปตท.ไม่หวั่น มุ่งธุรกิจน็อนออยล์

ด้าน นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ส่วนตัวมอง OR ว่า มีความพร้อมในการแข่งขัน เพราะมีฐานธุรกิจเดิมที่แข็งแรง มั่นใจว่าจะแข่งขันในตลาดได้ เพราะมี value chain ที่กว้าง นอกจากนี้ในกลุ่ม ปตท. ยังมีพันธมิตรธุรกิจจำนวนมาก และที่สำคัญภายใต้ธุรกิจเดียวกัน ผู้ประกอบการก็พร้อมร่วมวางแผนกลยุทธ์การเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน

“ปีนี้ OR วางงบฯ3.1 หมื่นล้านบาทจะมุ่งไปในธุรกิจไลฟ์สไตล์มากขึ้น 45% รองลงมาเป็น mobility 22% ธุรกิจ global market 16% และinnovation 17% จะทำให้ OR ปรับสัดส่วนรายได้จาก น็อนออยล์เสริมความแข็งแกร่งได้มากขึ้น และที่สำคัญ OR จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจ EV จะมุ่งเพิ่มหัวชาร์จ 300 จุด เป็น 7,000 จุด ในปี 2573 และจะมีการร่วมกับพันธมิตรภายใน ปตท. อย่าง GPSC ในการเสริมแกร่งด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงานด้วย”

รายงานข่าวระบุว่า ผลดีจากการควบรวมธุรกิจบางจาก-เอสโซ่ไม่เพียงส่งผลให้บางจากมีความแข็งแกร่งด้านต้นน้ำเท่านั้น แต่ยังเสริมแกร่งด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในกระบวนการผลิตทั้งในด้านคลังและท่อส่งน้ำมันด้วย แต่ต้องติดตามว่าบางจากจะมีแนวทางอย่างไรในการบริหารจัดการสถานีบริการในส่วนของดีลเลอร์และพื้นที่ทับซ้อนของปั๊มบางจากและเอสโซ่ด้วย จากปัจจุบันที่ปั๊มเอสโซ่จะอยู่ในเมืองมากกว่านอกเมืองก็ตาม