ควบรวมธุรกิจพุ่ง 6 แสนล้าน บอร์ดแข่งขันจับตาขาใหญ่ยึดตลาด

ควบรวมธุรกิจ

เทรนด์ควบรวมธุรกิจพุ่งช่วงโควิด บอร์ดแข่งขันฯแจงปี’65 เกิดดีลควบรวมถึง 42 เคส มูลค่าทะลุ 6 แสนล้าน มีทั้งกลุ่ม “ปิโตรเคมี-ประกันภัย-ขนส่งโลจิสติกส์” ไม่รวมดีลทรู-ดีแทคชี้เทรนด์ธุรกิจเปลี่ยนหลังโควิดบีบควบรวมเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวังผลกระทบการแข่งขัน จับตาช่วงเปลี่ยนผ่านสรรหาบอร์ดชุดใหม่ที่ครบวาระตั้งเลขาฯคนใหม่ “วิษณุ วงศ์สินศิริกุล” รับ 3 วาระร้อน รีวิวกฎหมายแข่งขันหลังบังคับใช้ 5 ปี เร่งเพิ่มทีมเกาะติดธุรกิจ-งบประมาณ “ดร.นิเวศน์” วิเคราะห์ M&A ดีลใหญ่ขึ้น เกมธุรกิจโตทางลัด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2562 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากโควิดฟาดหาง ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดฉาก หลายธุรกิจต้องปรับตัว และควบรวมกิจการ ซึ่งจะเห็นดีลควบรวมกิจการหลากหลายสาขาเพิ่มขึ้น อาทิ ซี.พี.-เทสโก้, ทีเอ็มบี-ธนชาต, ทรู-ดีแทค, เอไอเอส-3BB, กัลฟ์-อินทัช และล่าสุดบางจาก-เอสโซ่ ซึ่งจะส่งผลต่การแข่งขันของตลาด ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงประชาชนอย่างแน่นอน

ควบรวมกระทบเกมแข่งขัน

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การควบรวมธุรกิจ เป็นเทรนด์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะในปีนี้น่าจะร้อนแรงขึ้น คาดว่าเพราะตอนนี้ธุรกิจเริ่มกลับมาทำงานปกติแล้ว ซึ่งช่วงหลังโควิด หลาย ๆ ธุรกิจต้องเริ่มดูแลกำไร ฉะนั้นหน่วยธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีกระจายทั่วโลก อันไหนที่ไม่สร้างรายได้ หรือทำรายได้น้อยหรือขาดทุนก็จะต้องปรับเปลี่ยน ควบรวมหรือขายกิจการ

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

“เทรนด์การควบรวมเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในบ้านเรา เพราะธุรกิจจะต้องปรับตัว ที่เห็นกันชัดอย่างหนึ่งที่ได้รับข้อมูล คือธุรกิจดิจิทัล ปีนี้จะมีการปรับตัวค่อนข้างแรง เพราะช่วงโควิดขยายตัวเยอะมาก แต่ไม่ได้หมายความว่ามีรายได้หรือมีกำไร ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มมีการแข่งขันมากขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการทำธุรกิจหรือการควบรวมกิจการและรูปแบบกำลังเปลี่ยน อันนี้ก็ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น เพราะการควบรวมธุรกิจมีผลเชื่อมโยงต่อการแข่งขันเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละประเภทธุรกิจ ซึ่งจะไปกระทบต่อผู้บริโภคและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ”

ตารางควบรวมธุรกิจ

ปี’65 ดีลพุ่ง 6 แสนล้าน

สำหรับตัวเลขจำนวนธุรกิจที่มีการแจ้งผลการรวมธุรกิจเข้ามา และแจ้งขออนุญาตควบรวม ในปี 2565 มีจำนวน 42 เคส คิดเป็นเม็ดเงินควบรวม 681,726 ล้านบาท (ไม่รวมดีลทรูควบรวมดีแทค ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะอยู่ภายใต้กำกับของ กสทช.) เทียบกับก่อนโควิดในปี 2562 มีจำนวนควบรวม 24 เคส มูลค่า 660,893 ล้านบาท และในช่วงโควิดปี 2563 มีการควบรวมธุรกิจ 16 เคส มูลค่า 485,542 ล้านบาท และปี 2564 มีจำนวน 32 เคส มูลค่า 2,059,811 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่มีมูลค่าการควบรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์

หากดูในรายละเอียดการควบรวมปี 2565 ในจำนวน 42 เคส แบ่งเป็น การขออนุญาตควบรวม 3 เคส มูลค่า 249,736 ล้านบาท และแจ้งเพื่อทราบ 39 เคส มูลค่า 431,989 ล้านบาท

โดยแยกประเภทธุรกิจ 6 กลุ่มที่มีการควบรวมมากสุด อันดับ 1 คือกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 15 เคส ทั้งปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์ มูลค่า 394,716 ล้านบาท อันดับ 2 คือ ธุรกิจการเงิน 11 เคส มูลค่า 41,598 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็น ธุรกิจประกันภัย 10 เคส มูลค่า 34,307 ล้านบาท และธุรกิจธนาคารมี 1 เคส มูลค่า 7,291 ล้านบาท

ส่วนอันดับ 3 มี 2 ประเภทธุรกิจ คือ ธุรกิจบริการ 5 เคส มูลค่า 239,729 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 5 เคส มูลค่า 1,687 ล้านบาท

สำหรับในธุรกิจบริการแยกย่อยเป็น ธุรกิจบริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ 3 เคส 236,215 ล้านบาท และธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ 2 เคส 3,514 ล้านบาท

แอ็กชั่น กขค.กำหนดเกมแข่งขัน

ศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า แนวปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้า มาตรา 51 กำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ 1) ให้ผู้ประกอบการมายื่น กขค. ภายใน 7 วันหลังควบรวม หรือ 2) หากรวมแล้วมีอำนาจเหนือตลาด ก็ต้องมาขออนุญาตควบรวมจาก กขค.

สำหรับกรณีที่เข้าข่ายอำนาจเหนือตลาด จะพิจารณา 2 องค์ประกอบ คือ 1.บริษัทรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และ 2.ส่วนแบ่งตลาด กรณีที่ตลาดมีผู้เล่นหลัก 3 ราย (มีส่วนแบ่งตลาดรวมเกิน 75%) หรือถ้ามีผู้เล่นรายใหญ่รายเดียวที่มีส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป ก็เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด ต้องขออนุญาตการควบรวมจาก กขค.

โดยหลังรับคำร้องจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาตามกระบวนการว่าเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ หากผู้ประกอบการไม่มายื่น และเข้าเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาดก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับบทลงโทษทางปกครองกรณีที่ไม่มาแจ้งควบรวม จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือกรณีที่มีอำนาจเหนือตลาดแล้วไม่มาขออนุญาต ปรับไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าดีล เป็นต้น

สรรหาบอร์ดแข่งขันชุดใหม่

ศ.ดร.สกนธ์กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการทำงาน ทั้งในส่วนของการตั้ง เลขาธิการสำนักงานแข่งขันทางการค้า (สขค.) คนใหม่ และคณะกรรมการแข่งขันฯ โดยในส่วนของเลขาฯ ล่าสุดได้ประกาศผลการแต่งตั้ง ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อดีตกรรมการแข่งขันทางการค้า เป็นเลขาฯแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดในสัญญา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการสรรหากรรมการแข่งขันชุดใหม่ (ครบวาระ 2 คน จากทั้งหมด 7 คน)

“ส่วนตัวผมก็สมัครกรรมการแข่งขันชุดใหม่แล้วหลังวันที่ 25 ม.ค. 66 นี้ กรรมการสรรหาจะมีการประชุมหารือ”

ลุย 3 วาระร้อน-เพิ่มทีมเกาะติด

ประเด็นที่ผู้จะเข้ามารับตำแหน่งสานงานต่อ เรื่องหลักคือทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ปี 2560 ซึ่งบังคับใช้มาครบ 5 ปี ตอนนี้ถึงเวลาจะต้องทบทวนกฎหมาย รวมถึงเรื่องงบประมาณ ซึ่งแต่ละปีสำนักงานมีงบประมาณเพียง 150-160 ล้านบาท แต่ภารกิจขยายงานเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีหน้าจำเป็นต้องเสนอของบประมาณมากขึ้น เพื่อเตรียมย้ายสำนักงานในปี 2568

รวมถึงแผนการเพิ่มอัตราบุคลากรปีนี้ ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มอีก 30 คน และทยอยเพิ่มภายใน 3 ปีเป็น 223 คน เนื่องจากตอนทำโครงสร้างสำนักงานครั้งแรก และตอนนี้ไม่เหมือนเดิม โครงสร้างเดิมถูกออกแบบจากหน่วยราชการ แต่วิธีการทำงานใหม่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อย่างธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มสมัยก่อนไม่มี ต้องตั้งใหม่หาทีมมาทำงานในหน้าที่เหล่านี้

5 ดีลยักษ์ M&A โตทางลัด

ขณะที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า เปิดเผยว่า การทำ M&A หรือการควบรวมกิจการในตลาดหุ้นไทยในช่วงหลายปีมานี้ ดูเหมือนว่าจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่น่าสนใจก็คือ การควบรวมกิจการในช่วงหลัง ๆ นี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลสำคัญคิดว่ามาจากการที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้กิจการขนาดใหญ่โตช้าลงมากจากธุรกิจเดิมของบริษัทที่ทำอยู่ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลงมามาก และสภาพคล่องในตลาดสูงมาก ทำให้ต้นทุนในการซื้อกิจการต่ำลงมาก

ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องหาหนทางที่จะเติบโตให้เร็วขึ้น โดยการทำ M&A ซื้อทั้งกิจการที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน ธุรกิจต่อเนื่อง และธุรกิจที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องเลย แต่บริษัทคิดว่าตนสามารถที่จะบริหารได้ เพราะมีความเข้มแข็งหรือมีความสามารถพอ และที่สำคัญมีเงินหรือสามารถที่จะระดมเงินที่จะซื้อได้โดยแทบจะไม่ต้องเพิ่มทุน

โดย ดร.นิเวศน์ระบุถึง 5 ดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ 1.ดีลแม็คโคร ยักษ์ค้าส่งในเครือ ซี.พี. ซื้อกิจการ LOTUS ยักษ์ค้าปลีกในไทยและมาเลเซีย 2.ดีลการควบรวมระหว่างธนชาต หรือ TCAP กับทหารไทย หรือ TTB ซึ่งก็คือการรวมในธุรกิจเดียวกันคือ ธนาคารและการเงินครบวงจร 3.ดีล GULF ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ เทกโอเวอร์ INTUCHธุรกิจโทรคมนาคม 4.ดีลใหญ่ที่สะเทือนวงการมือถือ TRUE ควบรวม DTAC เพื่อขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งท้าชนกับ ADVANC และ 5.ดีลล่าสุด บางจาก (BCP) ประกาศเทกโอเวอร์ ESSO ซึ่งเป็นธุรกิจเดียวกัน