วงการโรงกลั่น วิเคราะห์สนั่น ดีลควบรวมบางจาก-เอสโซ่ 11 เม.ย. 66 ฉลุย

บางจาก-เอสโซ่

งวดเข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับกระบวนการควบรวมธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือเอสโซ่ อภิมหาดีล 55,500 ล้านบาท ที่ประกาศไปเมื่อค่ำคืนวันที่ 11 มกราคม 2566 กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในวันที่ 11 เมษายน 2566 นี้

ซึ่งได้บรรจุวาระพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสามัญและการทำราคาเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดใน บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามความเห็นคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้าทำธุรกรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท เนื่องจากจะทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการดาเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

ดีลควบรวมบางจากคุ้มแสนคุ้ม

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ฝ่ายบางจาก “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากได้เคยออกมาระบุว่า ดีลนี้คือกลยุทธ์ระยะยาวที่บางต้องขยายโรงกลั่นแห่งที่ 2 จากเดิมโรงกลั่นบางจากมี 1 แห่งที่สุขุมวิท กำลังการผลิต 174,000 ล้านบาร์เรล “ยากจะขยาย” เขาจึงใช้เวลาเจรจาดีลนี้ถึง 1 ปี นับจากเดือนเมษายน 2565

สิ่งที่ “บางจาก” ได้รับจากดีลนี้เรียกว่า “คุ้มแสนคุ้ม” เพราะได้ “สินทรัพย์” ไม่รวมแบรนด์ จะประกอบด้วย 1) น้ำมันดิบ 7.4 ล้านบาร์เรล คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 33-34 บาท/เหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท 2) การลงทุนในท่อส่ง 5,000 ล้านบาท 3) ที่ดิน 800 ไร่ ไร่ละ 15 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาท

4) สถานีบริการน้ำมัน 700 สาขา สาขาละ 20 ล้านบาท รวม 15,000 ล้านบาท “หากรวมเฉพาะ 1-4 จะเท่ากับมูลค่าสินทรัพย์ 55,000 ล้านบาทแล้ว ยังไม่รวม ‘โรงกลั่นน้ำมันขนาด 174,000 ล้านบาทบาร์เรล และโรงงานพาราไซลีน ขนาด 500,000 ตันที่บายโปรดักส์’ อีกเท่ากับบางจากได้ 2 โรงนี้มาฟรี ๆ” นายชัยวัฒน์กล่าว

และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การ Synergy ธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ แยกเป็นต้นน้ำกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 120,000 ล้านบาร์เรลเพิ่มอีก 174,000 ล้านบาร์เรล รวม 294,000 ล้านบาร์เรล ทำให้โรงกลั่นบางจากขึ้นเป็นเบอร์ 1 “แซง” บมจ.ไทยออยล์ โรงกลั่นที่มีกำลังการผลิต 275,000 ล้านบาร์เรลทันที แถมพ่วงด้วยกลางน้ำคือ โรงงานบายโปรดักส์พาราไซลีนอีก 500,000 ตัน และยังได้วางหมากว่าหลังจากนี้โรงกลั่นบางจาก 1 จะใช้สำหรับกลั่น “ไบโอเบส” เช่น น้ำมันไบโอเจ็ตที่กำลังลงทุนก่อสร้างอยู่คาดว่าจะเสร็จสิ้นปี 2567

วงในวิเคราะห์ดีลฉลุย

ขณะที่วงการโรงกลั่นต่างวิเคราะห์ถึงอภิมหาดีล 55,000 ล้านบาท ว่าน่าจะผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นแบบ “ฉลุย” เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องสกัดดีลนี้

“ดีลนี้น่าจะผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น เพราะโรงกลั่นของบางจากปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตอาจจะสู้ไม่ค่อยได้ เพราะทำเลห่างไกลจำเป็นต้องขนส่งน้ำมันดิบจากท่าเทียบเรือเข้ามากลั่น และ 2.เป็นเรื่องที่ดินที่ตั้งโรงกลั่น ปัจจุบันใช้ ‘ที่ดินทรัพย์สิน’ ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาในอีกไม่กี่ปี หากบางจากจะต่อสัญญาอาจจะเหนื่อย เพราะ ตรงพื้นที่นั้นเป็นโรงกลั่นเก่าในเมือง ใกล้ชุมชน ส่วนจะขายต่อให้ใคร ก็จะมีใครซื้อโรงกลั่น มันเก่ามานานอาจจะไม่คุ้มที่จะต่อ”

ดังนั้น การผลักดันดีลนี้ให้สำเร็จจะเป็นทางออก เพราะหากเทียบต้นทุนการผลิต ถ้าโรงกลั่นริมทะเล น้ำมันดิบมาจากเรือก็สามารถโหลดขึ้นได้เลย แต่กรณีบางจาก็ต้องขนส่งอีกต้นทุนก็สูงสู้ไม่ได้ และหน่วยกลั่นบางหน่วยก็ผลิตมานานหลายปี

ขณะที่ค่ายคู่แข่งอย่าง ปตท.มีการปรับปรุงในส่วนของโรงกลั่นไทยออยล์ เพราะมีอายุหลายปี แต่หากเทียบกันแล้ว “ไทยออยล์” ก็ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน และที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีควาเหมาะสม อยู่ริมทะเลสามารถรับน้ำมันดิบจากเรือลำใหญ่ ๆ ได้ไม่ต้องขนส่งเป็นระยะทางไกล ๆ

โรงกลั่นลดการแข่งขัน

ประเด็นสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การควบรวมธุรกิจนี้จะทำให้จำนวนโรงกลั่นในประเทศลดลงจากเดิม 4 กลุ่มก็จะเหลือแค่ 3 กลุ่ม นำมาสู่การมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

ในวงการโรงกลั่นยังมองอีกว่า การ Synergy เป็นสิ่งที่ปัจจุบันโรงกลั่นหลายค่ายทำอยู่ แม้ว่าเบื้องหน้าฉากอาจจะเป็นคู่แข่ง แต่ภายในระบบการบริหารจัดการ แต่ธุรกิจมีการประสานงานกันในหลายเรื่อง เช่น การสวอฟน้ำมัน บางครั้งหากปั๊มน้ำมันในกรุงเทพต้องการใช้น้ำมัน ก็ซื้อจากโรงกลั่นบางจาก เพราะอยู่ในเมือง หรือบางครั้งอีกค่ายสินค้าขาดต้องมาซื้อจากอีกค่ายไปใช้ก่อน “ซึ่งต้องยอมรับว่าในทางการตลาดแข่งกันก็แข่งไป แต่ในทางโอเปอเรชั่นอะไรช่วยกันได้ก็ช่วยกัน”

อนาคตกำลังการผลิตประเทศหลังควบรวม

การควบรวมธุรกิจ ไม่ได้หมายถึงการลดกำลังการผลิต ดังนั้น การใช้กำลังการผลิตจะยังมีเท่าเดิม ซึ่งสำหรับประเทศไทยการผลิตและการใช้อยู่ในภาวะที่สมดุล มีเหลือส่งออกบ้าง แต่หากในอนาคต มีการเพิ่มกำลังการผลิตก็จำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ๆ เพิ่ม ดังนั้นประเมินว่า จะไม่กระทบต่อผู้ค้าปลีกน้ำมันที่ใช้น้ำมันจากแต่ละค่าย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อนาคตอันใกล้นี้บางจากและเอสโซ่จะยังไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิต แต่ในทางตรงกันข้าม อาจจะ “ลด” เช่น หากบางจากใช้โรงกลั่นเอสโซ่ที่ศรีราชาเป็นหลักแล้ว และมีแรงกัดดันจากเรื่องต้นทุนค่าขนส่งและเรื่องที่ดิน สำหรับโรงกลั่นในกรุงเทพฯ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะ “ปิดโรงกลั่น” ที่กรุงเทพฯ เป็นต้น

สุดท้าย วงการโรงกลั่นน้ำมันมองว่า แต่ละค่ายต้องมุ่งปรับปรุงธุรกิจโรงกลั่นให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด ประสิทธิภาพสุงที่สุด เพราะสิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กำลังค่อย ๆ เกิดขึ้น เมื่อถึงเวลา การใช้น้ำมันเริ่มใช้น้อยลง เชื่อได้ว่า “โรงกลั่น” ท้าย ๆ แถวที่ผลิตแล้วไม่คุ้มจะปิดตัวลงก่อนเพราะสู้ไม่ได้ แต่โรงกลั่นเป็น “Last man Standing” กว่าจะมาถึงวาระนั้นคงใช้เวลา 30-40 ปี และช่วงเวลานั้น เมื่อจำนวนโรงกลั่นปิดตัวลงมากขึ้น จะเป็นโอกาสของผู้ที่ยืนหยัดอยู่คนสุดท้ายก็เป็นได้