บิ๊กธุรกิจ SAICO ชี้โลกร้อนทุบผลไม้-ผักแปรรูปส่งออก

กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ผลไม้สด ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย โดยในปี 2565 ส่งออกถึง 8,380.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

และล่าสุดในช่วงไตรมาส 1/2566 แม้ว่าภาพรวมการส่งออกไทยจะติดลบ 4.5% แต่การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ยังสามารถทำได้เพิ่มขึ้น 16.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 1,436.2 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกยังมีทิศทางที่ผันผวนจากการคาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาเอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงรุนแรงที่สุดในรอบ 8 ปี ส่งผลให้โอกาสที่ผลผลิตสับปะรดในปี 2566 นี้จะลดลง และกระทบต่อผู้ส่งออกมีสูง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” อดีตประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (มหาชน) หรือไซโก้ “SAICO” ผู้ประกอบกิจการประเภทการผลิตผลไม้และผักบรรจุกระป๋องที่คร่ำหวอดในวงการส่งออกมานาน ถึงทิศทางการค้าการทำธุรกิจในปีนี้ ภายใต้ความท้าทายเรื่องภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อภาพการส่งออก

บริษัท ไซโก้ “SAICO”

บริษัท SAICO รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับลูกค้า แล้วส่วนใหญ่เราทำสินค้าเน้นส่งออกเป็นหลัก สินค้าที่ผลิตจะเป็นประเภทผลไม้ ผัก สับปะรด บรรจุกระป๋อง ปัจจุบันเราได้เพิ่มผลิตภัณฑ์รูปแบบแปรรูปมากขึ้น ทั้งผลไม้ สับปะรดอบแห้ง น้ำสับปะรดเข้มข้น ซอส เป็นต้น

เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และตลาดที่เปลี่ยนไป พร้อมยังให้ความสำคัญกลุ่มวีแกน (มังสวิรัติ) ที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เรามีโรงงานอยู่ 2 แห่ง อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และระยอง

“เพื่อตอบสนองลูกค้า บริษัทยังพยายามหาผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ ที่เหมาะสมกับตลาดวีแกนด้วย เพื่อเจาะตลาดการค้า การส่งออกเพิ่มขึ้น วัตถุดิบที่ทดแทนเนื้อ ผลิตภัณฑ์จากนม สำหรับตลาดส่งออกหลักเรายังเป็นตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่บริษัทยังคงรักษาฐานลูกค้าไว้เป็นอย่างดี โดยยังสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเอเชียเราส่งออกน้อย”

แม้บริษัทไม่ได้มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง แต่ก็มีทำตลาดให้กับลูกค้าในประเทศเยอะ อย่างกลุ่มนำสับปะรดไปประกอบอาหาร เบเกอรี่ เป้าหมายเราจะขยายตลาดในประเทศให้มากขึ้น ในปี 2567 ตั้งไว้ที่ 25% จากปัจจุบันมีประมาณ 5% รายได้ปี 2566 นี้ เรามองไว้ที่ 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,400 ล้านบาท เพราะเรายังคงมีฐานลูกค้า และผลิตภัณฑ์ที่ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าด้วย

หนุนรัฐทำ FTA

สถานการณ์การส่งออกสินค้าในตลาดสหรัฐ ยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าสับปะรดกระป๋อง ประเทศไทยยังคงเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาด เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ได้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาที่ถูกกว่าไทย

ขณะที่สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้า 19% ซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากไทยสูงกว่า ส่งผลให้สินค้าไทยแข่งขันลำบาก ความต้องการสินค้าก็ลดลง แต่อย่างไรก็ดี สินค้าที่ส่งออกไปของบริษัทก็ได้รับตอบรับดีจากลูกค้าและตลาด

“สภาพตลาดและการแข่งขันในปัจจุบัน บริษัทเองก็มีต้นทุนในการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน บริษัทได้เน้นส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่าง น้ำสับปะรดเข้มข้น ซอส ผลไม้อบแห้งมากขึ้น และพยายามรักษาฐานลูกค้าไว้ เพราะแม้จะต้องเสียเปรียบด้านสิทธิพิเศษจีเอสพี

แต่บริษัทก็มีความหวังว่าให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้โดยเร็ว เพื่อที่จะเดินหน้าเปิดเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกสินค้า”

ห่วงภัยแล้งผลผลิตหาย 20%

อย่างไรก็ตาม ปีนี้วัตถุดิบสำคัญในการผลิตสับปะรดกระป๋องอาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจากการติดตามสถานการณ์ผลผลิตคาดว่าจะลดลง 20% จากปกติแล้วปริมาณ 1.5-1.2 ล้านตัน เหลือไม่ถึง 1 ล้านตันในปีนี้ เพราะปัญหาของโลกร้อน ไม่มีน้ำ เกิดภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง

ปัจจุบันก็เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว โดยในช่วง 3 เดือน ผลผลิตเริ่มหายจากตลาดไปบ้างแล้ว ทำให้ราคาผลผลิตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 7-8 บาทต่อ กก. ถ้าผลผลิตออกน้อยก็มีโอกาสที่จะดันให้ราคาเพิ่มก็มีสูง และทำให้ผู้ผลิตแย่งซื้อวัตถุดิบ ขณะที่ตลาดผู้บริโภคต้องการสินค้าราคาถูก

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศ (Climate Prediction Center) แห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ได้มีการรายงานสภาพอากาศและความร้อน ก็พบว่ามีแนวโน้มจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และร้อนจัด ก็มีโอกาสที่ผลผลิตปีหน้าจะลดเพิ่มจากปีนี้อีก 10% จะทำให้ผลผลิตมีโอกาสลดลงไปอีก

คาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 7-8 แสนตันได้ ต้องยอมรับว่าผลผลิตสับปะรดลดลงมากเมื่อเทียบ 5 ปีที่ผ่านมา หายไปเฉลี่ย 4-5 แสนตัน อดีตนั้นผลผลิตต่อปี 1-2 ล้านตัน

“สับปะรดปกติจะออกสู่ตลาดมากที่สุด 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของทุกปี แต่ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอด และสับปะรดเป็นผลไม้ที่ต้องการการดูแลมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น การเก็บเกี่ยวก็ต้องใช้แรงงานคนมากกว่าเครื่องจักร ปัจจุบันยังพบว่าพื้นที่การปลูกสับปะรดนั้นลดลง เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนที่ดูแลง่ายและเก็บเกี่ยวสะดวก อย่างอ้อย มันสำปะหลัง”

ฝากรัฐบาลใหม่

ภาคเกษตรกรรม เป็นหัวใจของเศรษฐกิจและประเทศไทย ซึ่งยังมีความอ่อนแอ ก็คาดหวังให้รัฐบาล หน่วยงานหลักที่ดูแล เข้ามาช่วยดูแลและส่งเสริมให้ภาคเกษตรไทยมีความเข้มแข็ง สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนภาคเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้ และการเข้ามารับซื้อเมื่อผลผลิตไม่ได้ราคา ผลผลิตล้นตลาดนั้น ไม่ได้ช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยเหลือปลายเหตุ

และหากดันราคาให้สูงขึ้น เมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถรับซื้อได้ หรือรับซื้อในราคาที่สูง ก็จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดส่งออกขายไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการดูแล และมีกฎหมายเข้ามาควบคุมดูแล เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้ดีขึ้น