ส่องโรงงานโตโยต้า แชมป์อนุรักษ์พลังงาน 9 ปีซ้อน

โรงงานโตโยต้า

ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานสูง ในภาวะที่ราคาพลังงานแพงประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ต้องส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มต้นจากโรงงาน

รางวัล “Thailand Energy Awards” เป็นรางวัลที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มอบให้ผู้มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน

ซี่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องถึง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2013-2021 และจนถึงในปีนี้ ก็คว้ารางวัลประเภททีมงานด้านพลังงานโรงงานควบคุม

ด้วยการชูกลไกทางธรรมชาติ “Karakuri” มาสร้างประโยชน์ในขบวนการผลิตที่ไม่ต้องใช้พลังงานสิ้นเปลือง และเปิดโรงงานบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ให้คณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมแนวทางการทำงาน

วิสัยทัศน์ใหม่ โตโยต้าครบ 60 ปี

นายสมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในโอกาสที่โตโยต้าครบ 60 ปี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะเป็น ผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม

ซึ่งมีพันธกิจหลักในการเสริมสร้างความสมดุล และความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการดำเนินงานทุกกระบวนการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามเจตนารมณ์ นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศไว้

สมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย
สมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย

Energy-less by Karakuri

โดยโตโยต้าได้ตั้งทีมพลังงานขึ้นซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อรวบรวมเป็นเทคนิค “Zero CO2 Viewpoint” ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ลดการใช้พลังงาน 2) ใช้พลังงานที่สูญเสีย loss น้อยที่สุด 3) ใช้กลไกและแรงจากธรรมชาติมาช่วยลดพลังงาน 4) นำพลังงานที่สูญเปล่ากลับมาใช้ใหม่ และ 5) เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน

“นวัตกรรมใหม่อย่าง Karakuri เป็นหนึ่งในเทคนิค Zero CO2 Viewpoint ที่ใช้กลไกและแรงจากธรรมชาติมาช่วยลดพลังงาน (Energy-less by Karakuri) ซึ่งเป็นการออกแบบที่อาศัยแรงโน้มถ่วง (spring) เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าคงเหลือ”

ล่าสุด โตโยต้ายังได้มีการศึกษาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มเติมเรื่อง sand battery energy storage ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประเทศฟินแลนด์ โดยใช้ทรายเพื่อกักเก็บความร้อนและพลังงานที่เหลือใช้จากโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นพลังงานสำรองอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการสร้างตัวต้นแบบ คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะสามารถผลิตและใช้จริงได้ในโรงงาน

3 แกนหลักสู่ความยั่งยืน

นายสมคิดกล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นจาก 3 แกนหลักสำคัญ โดยแกนหลักแรกคือให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยจะต้องทำให้ทุกคนมองเห็นจุดร่วมเดียวกันและหาหลักการที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม

ส่วนแกนหลักที่สองคือ การพัฒนาและให้ความรู้แก่บุคลากรที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับบริษัท สำหรับตรวจสอบการใช้พลังงานว่ามีตรงไหนขาดหรือเกิน รวมถึงหาวิธีแก้ไขและแนวทางอื่นที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากทำอย่างนี้ได้

ส่วนแกนหลักสุดท้ายคือต้องมีระบบการจัดการและติดตามผล ซึ่งต้องมีการอุดช่องโหว่และปรับปรุงอยู่สม่ำเสมอ

เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน

นายสมคิดกล่าวว่า มีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสำโรง โรงงานบ้านโพธิ์ และโรงงานเกตเวย์ รวมกันที่ 50 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันดำเนินการติดตั้งไปแล้วที่ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่า ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 จะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2578

“เรายังมีการปลูกป่าเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดเหลืออย่าง ECO Forest ที่ปัจจุบัน ปลูกไปแล้วกว่า 2 ล้านต้น หรือคิดเป็น 19,200 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือภายใน value chain ของเราอันเกิดจากความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่หากมีแค่เราเพียงคนเดียว คงไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้”

พพ.เตรียมดันลดหย่อนภาษี

นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็ต้องเริ่มจากการสร้างความรู้และความเข้าใจก่อน หากสิ่งใดที่สามารถทำได้ทันทีก็ให้เริ่มได้เลย อย่างการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือการใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพสูง

ชำนาญ กายประสิทธิ์
ชำนาญ กายประสิทธิ์

“ทาง พพ.เองก็มีแนวนโยบายว่า บริษัทหรือโรงงานใดเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงและช่วยประหยัดพลังงานก็น่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทหรือโรงงานได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนเรื่องอัตราภาษี แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องพูดคุยกับทางกระทรวงการคลังก่อนเพื่อหาความเหมาะสม”

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานหรือการใช้พลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานจนประสบผลสำเร็จ ตลอดจนมีกระบวนการตรวจสอบและติดตามผล เพื่อหาข้อบกพร่องและแก้ไข