ค้าชายแดน-ผ่านแดนไทย ต.ค. 2566 หดตัว 5.86% เหตุเศรษฐกิจเพื่อนบ้านเปราะบาง

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ตุลาคม 2566 ค้าชายแดนและผ่านแดน มูลค่า 139,695 ล้านบาท หดตัว 5.86% เหตุเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความเปราะบาง ขณะที่ค้าผ่านแดนไปจีนโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 139,695 ล้านบาท หดตัว 5.85% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 70,042 ล้านบาท หดตัว 14.55% และการนำเข้ามูลค่า 69,653 ล้านบาท ขยายตัว 4.90% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งสิ้น 389 ล้านบาท

การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา) เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 74,778 ล้านบาท หดตัว 14.50% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 46,223 ล้านบาท หดตัว 15.43% และการนำเข้ามูลค่า 28,555 ล้านบาท หดตัว 12.95% โดยไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 17,667 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล 3,284 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ 1,417 ล้านบาท และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ 1,301 ล้านบาท

การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ) เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่ารวม 64,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 23,820 ล้านบาท หดตัว 12.80% และการนำเข้ามูลค่า 41,098 ล้านบาท ขยายตัว 22.34% โดยสินค้าส่งออกผ่านแดนที่สำคัญ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ 3,208 ล้านบาท ยาง T.S.N.R. 2,876 ล้านบาท และทุเรียนสด 2,208 ล้านบาท

ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดนปี 2566 ระยะเวลา 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) พบว่า มีมูลค่ารวม 1,451,068 ล้านบาท หดตัว 2.62% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออก 825,248 ล้านบาท หดตัว 3.26% นำเข้ามูลค่า 625,820 ล้านบาท หดตัว 1.75% ส่งผลให้ไทย ได้ดุลการค้า 199,427 ล้านบาท

ทั้งนี้ การค้าชายแดนในเดือนตุลาคม 2566 หดตัวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว ที่อัตราเงินเฟ้อสูงและค่าเงินกีบยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ซึ่งมากกว่า 80% เป็นการค้าชายแดน

โดยการส่งออกชายแดนไป สปป.ลาว และเมียนมา หดตัว 14.5% และ 9.9% ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัว 9.0% ซึ่งขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ทุเรียนสด 2,206 ล้านบาท (+162.8%) ไม้แปรรูป 1,990 ล้านบาท (+131.7%) และยาง T.S.N.R. 1,476 ล้านบาท (+48.7%)

ค้าชายแดน-ผ่านแดนไทย ต.ค.2566 หดตัว 5.86% เหตุเศรษฐกิจเพื่อนบ้านเปราะบาง

ค้าชายแดน-ผ่านแดนไทย ต.ค.2566 หดตัว 5.86% เหตุเศรษฐกิจเพื่อนบ้านเปราะบาง

กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัวมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดนเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ซึ่งมีเป้าประสงค์หลักในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาทต่อปี ในปี 2570

โดยพร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การติดตามการยกระดับ/การเปิดจุดผ่านแดน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดแล้ว 86 แห่ง จากทั้งหมด 95 แห่ง

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 73 แห่ง โครงการจับคู่กู้เงิน โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 1,710 ราย วงเงินรวม 6,631.7 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,658 ราย วงเงินรวม 6,458.3 ล้านบาท

การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการค้าชายแดน และประสานงานการจัดตั้งศูนย์บริการการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service : OSS) ในจังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ตามแนวทางการดำเนินการตามแผนเร่งรัดการค้าชายแดน Quick Win ภายในปี 2566

ค้าชายแดน-ผ่านแดนไทย