เปิด 4 สาเหตุทุจริตคอร์รัปชั่นปี 2565 ไทยอยู่อันดับที่ 101 ของโลกรับรู้การทุจริต

สนค. แนะเร่งแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน พร้อมเปิด 4 สาเหตุทุจริต เผยปี 2565 ไทยได้รับการจัดอันดับในดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก อันดับที่ 4 ของอาเซียน

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของประเทศชาติ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2565 จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ให้อยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ

และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งแม้ว่าคะแนนจะสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข

สนค. แนะเร่งแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สาเหตุการทุจริตคอร์รัปชั่น

(1) ผู้ให้ ซึ่งอาจเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชั่นโดยไม่รู้ตัว โดยมีหลายกรณีที่ผู้ให้เป็นผู้เสนอสินบนให้เจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับผลประโยชน์ การอำนวยความสะดวก การยกเว้นการลงโทษ หรือเพื่อให้สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

(2) ผู้รับ มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในกิจกรรมหลายอย่างมากเกินไป เช่น การออกใบอนุญาต การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารเงินงบประมาณ การใช้ดุลพินิจเพื่อตรวจสอบประเมินการดำเนินงานตามเกณฑ์ที่กำหนด

(3) ผู้ตรวจสอบการทุจริต ยังไม่รู้เท่าทันวิธีการทุจริตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือการตรวจสอบเกิดขึ้นช้าเกินไปจนเกิดความเสียหายขึ้นมากแล้วจึงค่อยตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ความเสียหายขยายวงกว้าง มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

(4) ผู้มีอิทธิพล มีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าตรวจสอบและดำเนินการในทางกฎหมายกับบุคคลหรือธุรกิจที่มีผู้มีอิทธิพลให้การคุ้มครอง

ผลกระทบค้า-การลงทุน

(1) รัฐสูญเสียงบประมาณ ที่จะสามารถนำไปใช้พัฒนางานในด้านอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทำให้ประเทศเกิดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้ลงทุนโครงการที่เหมาะสมในระยะเวลาที่กำหนด และทำให้การพัฒนาของไทยช้ากว่าประเทศอื่น

(2) การทุจริตทำให้ประเทศได้สินค้าและบริการที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งสินค้าและบริการของไทยที่ด้อยคุณภาพจะไม่เป็นที่ยอมรับของสากล และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสินค้าส่งออกไทย

(3) ทำให้ประเทศขาดความน่าเชื่อถือ เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมองว่าการลงทุนในประเทศไทย มีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นในระดับต่าง ๆ ในขณะที่บางประเทศอย่างสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างโปร่งใส มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลของซัพพลายเชนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศอย่างเข้มงวด ด้วยเหตุดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนมองข้ามประเทศไทยเพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีความโปร่งใสในการตรวจสอบการทุจริตได้ดีกว่า

ตัวอย่างการแก้ปัญหา

ตัวอย่างการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของจีน ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ผลการดำเนินการจับกุมและลงโทษคดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556-2565) โดยคดีการทุจริตในจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 4.38 ล้านคดี ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ 4.7 ล้านคนที่เกี่ยวข้องและถูกตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่รัฐ 74,000 คนที่เข้ามาสารภาพผิดด้วยตนเอง

โดยแนวทางของการจัดการกับการทุจริตของจีน มีหัวใจสำคัญที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ประกอบด้วย

(1) การสร้างลำดับขั้นตอนการลงโทษเป็นการเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อคดีทุจริต โดยเรียงลำดับความรุนแรงของการลงโทษจากเบาไปหาหนัก คือ การเตือนสติและปรับปรุง การลงโทษทางวินัยทั่วไป การลงโทษทางวินัยอย่างหนักและปรับหรือโยกย้ายตำแหน่ง และการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงและโยงถึงการกระทำผิดทางกฎหมายและมีการดำเนินคดี

(2) สร้างแนวทางในการควบคุมดูแลแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นให้ความรู้และเตือนผู้ที่เข้าข่ายว่าอาจมีการกระทำผิดล่วงหน้า จัดให้มีการประชุมเพื่อวิจารณ์กันเองบ่อย ๆ ในหน่วยงานด้วยกันเพื่อเตือนสติตนเองและผู้อื่น

(3) กำจัดผู้มีอิทธิพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้การปกป้องคุ้มกัน โดยในปี 2565 การจับกุมและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้การคุ้มครองผู้มีอิทธิพลมีมากถึง 1 แสนกรณี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 92,000 คน โดยจีนกวาดล้างและตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าเข้าไปพัวพันกับผู้มีอิทธิพล และจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยกำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติหลายครั้ง แต่ยังขาดการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างจริงจัง สนค.เห็นควรดำเนินการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพดังนี้

(1) บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต และอาจขยายผลไปสู่บทลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตทั้งในฝั่งผู้ให้และผู้รับ

(2) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ทั้งในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการตรวจสอบมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสในทุกกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการตัดสินใจ ลดความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้ารัฐกับผลประโยชน์ลง

(3) ออกแบบระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่สามารถรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะ เพื่อป้องกันในกรณีที่เกิดความเสียหายไม่ให้ขยายวงกว้าง และสร้างระบบการรายงานพฤติกรรมการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐสำหรับประชาชนที่ใช้งานได้สะดวกและมีต้นทุนต่ำ พร้อมระบบการให้รางวัลเพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมตรวจสอบการทุจริต

(4) อบรมเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต และข้าราชการทั่วไป ให้มีความรู้เท่าทันกับรูปแบบการทุจริตที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการหารือแนวทางการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานเป็นระยะ

(5) ปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจหรือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ

(6) ศึกษาเกณฑ์การพิจารณาของตัวชี้วัดด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับนานาชาติอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้ไทยสามารถปรับปรุงและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้อันดับของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ และจะช่วยให้ไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการปรับปรุงภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยในอนาคต

โดยเฉพาะการปรับปรุงหัวข้อที่ไทยมีระดับคะแนนลดลง เช่น หัวข้อระดับการรับรู้ของประชาชนว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และหัวข้อพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในขณะเดียวกันต้องมีการเร่งพัฒนาในหัวข้อที่ไทยมีคะแนนเท่าเดิม เช่น หัวข้อการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม หัวข้อประสิทธิภาพของการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด หัวข้อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจ่ายงบประมาณภาครัฐ หัวข้อการใช้ตำแหน่งทางการเมืองที่สัมพันธ์กับการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบบเครือญาติ เป็นต้น