หนุนดัดแปลงรถน้ำมันเป็น EV นำร่อง 4 แสนคัน อุ้ม “ช่าง-อู่” ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ดัดแปลงรถน้ำมัน

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง “EV Conversion” ครั้งแรก ต้นปี 2567 เอกชน-รัฐ หนุนนำร่องต้นแบบรถบรรทุก-รถกระบะ 4 แสนคัน ดัดแปลงสู่ EV เหลือคันละ 300,00 บาท ด้านเอกชนขอยกเว้นภาษีนำเข้า-ภาษีสรรพสามิต 5 ปี รถข้าราชการชาร์จได้ที่หน่วยงานตนเอง

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะฝ่ายเลขาฯคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)

วันชัย พนมชัย
วันชัย พนมชัย

ขณะนี้ได้มีการทบทวนคณะกรรมการใหม่ จาก 29 หน่วยงาน เหลือ 16 หน่วยงาน เช่น สภาพัฒน์ ซึ่งจะดูเรื่องของงบประมาณ รวมถึงดึงหน่วยงานมันสมองของประเทศอย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยได้เสนอชื่อให้กับ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแต่งตั้งและนำเสนอบอร์ด EV และคาดว่าเดือน ม.ค. 2567 จะได้เห็นแนวทางการทำ EV Conversion จากคณะอนุกรรมการชัดเจนขึ้น

โดยแนวทางดังกล่าว จะเริ่มที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะเริ่ม 1.ศึกษาและทดลองการดัดแปลงรถบรรทุก รถสาธารณะ รถขนส่งน้ำ รถขยะ ให้วิ่งในระยะสั้น จำกัดระยะทาง เพื่อดูความปลอดภัย ดูโครงสร้างตัวรถ ดูสถิติว่ามีการกลับมาชาร์จบ่อยเพียงใด

2.ความสามารถในการใช้ รวมถึงการดีไซน์รถ เช่น รถบรรทุกต้องใช้แบตเตอรี่ใหญ่ขนาดใด ความจุเท่าไร ตำแหน่งของแบตเตอรี่ต้องห่างจากกันชนหน้า กันชนข้างเท่าไร เพราะจะมีผลต่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับและคนทั่วไปเมื่อมีการชนเกิดขึ้น

“เราได้มีการเสนอมาตรการไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้จัดทำเกือบครบแล้ว โดยเฉพาะมาตรฐานของส่วนที่สำคัญ ๆ อย่างแบตเตอรี่และสายไฟ แต่ในบอร์ด Conversion จะดูว่า หลังจากมีการ Convert จากรถ ICE มาเป็น EV แล้ว ทำอย่างไรมันถึงจะปลอดภัยและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ล่าสุดอยู่ระหว่างการทบทวนรายชื่อคณะกรรมการใหม่ จากนั้นจะเริ่มประชุมแนวทางกันต่อไป”

นายปริพัตร บูรณสิน คณะทำงานการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า บอร์ด EV ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ขึ้นเมื่อต้นปี 2566 เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศ หรือกลุ่มรถยนต์สันดาป

โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงมาก อย่างที่ทราบกันว่าการนํารถเก่าที่ใช้น้ำมันมาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่มาเป็นระบบไฟฟ้า 100% จะเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ จํานวนชิ้นส่วน จาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 3,000 ชิ้นเท่านั้น

ดังนั้น หัวใจสําคัญของ EV Conversion อยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้า ซึ่งมีราคา 400,000-800,000 บาท ถือว่าสูงมาก หากรัฐมีการสนับสนุนรถ EV Conversion สามารถลดราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน

โดยเฉพาะรถกระบะ เพราะรถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน ส่วนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีถึง 4 ล้านคัน หากดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% หรือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ

“รถเก่าเรามีมากและมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นฐานการผลิตใหญ่ การจะไป EV ก็จะนานหน่อย ดังนั้นอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าดัดแปลงจะช่วยคงอาชีพช่าง อู่ พวกกลุ่มชิ้นส่วนไว้ก่อน เพราะหากรัฐทิ้งรถสันดาปแบบฉับพลันไป อู่กว่า 2 หมื่นแห่งจะหายไปด้วย เราต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่พร้อม ซัพพลายเชนไม่พร้อม แต่ทั้งโลกต้องเดินไปในเรื่องของ EV ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงสำคัญมาก”

แหล่งข่าวจากภาคเอกชนกล่าวว่า มาตรการสนับสนุนได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอให้มีมาตรการทางการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เพื่อสนับสนุน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ทำการดัดแปลงน้ำมันให้เป็นไฟฟ้า เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ในระยะ 5 ปี สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

2.กลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะและผู้เดินรถ เช่น มาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการประกันภัย อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางด่วน 3.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า เช่น สนับสนุนค่าไฟฟ้าในการอัดประจุ สนับสนุนค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประจำบ้าน สนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนติดตั้งสถานีอัดประจุบนพื้นที่จอดรถและผู้ให้บริการ

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น การเปิดอู่รถดัดแปลงจะได้ลดหย่อนภาษี ภาครัฐสนับสนุนการฝึกอบรม โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 200% อนุญาตให้ข้าราชการที่ใช้รถไฟฟ้าดัดแปลงมาอัดประจุได้ที่หน่วยงานตนเอง