เปิดนโยบายพลังงาน “พีระพันธุ์” 3 เดือนครึ่ง รื้ออะไรแล้วบ้าง

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ภาพจาก Facebook พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga

‘พีระพันธุ์’ รื้อโครงสร้างพลังงาน ให้เอกชนใช้ก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยตามราคาเฉลี่ย ทำค่าไฟฟ้าถูกลง 11.5 สตางค์แบบถาวร เตรียมเดินหน้ารื้อระเบียบหลักเกณฑ์เพื่อให้การใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Solar Roof Top ครัวเรือนให้สะดวก พร้อมเริ่มดำเนินการตามนโยบาย “เปิดเสรีการนำเข้าน้ำมัน” ด้วย

วันที่ 4 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ผลการดำเนินนโยบายรื้อโครงสร้างพลังงานช่วงเวลา 3 เดือนครึ่ง หลังจากเข้ารับตำแหน่ง  (13 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566) ว่า ด้านก๊าซธรรมชาติได้มีการแก้ไขการจัดสรรก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศถูกลงในระยะยาว

“ความจริงผมเริ่ม “รื้อ” มาแล้วแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากมาย ด้วยการโยกก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยในส่วนที่นำไปใช้ผลิตปิโตรเคมีหากำไรเพื่อบริษัทในราคาต้นทุนต่ำ เท่ากับราคาต้นทุนก๊าซ LPG ที่นำมาให้ประชาชนใช้หุงต้มดำรงชีวิต ให้ไปอยู่ถูกที่ถูกทางใน PoolGas ทำให้ต้นทุนการนำก๊าซธรรมชาติส่วนนี้ไปใช้ในด้านปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนลงได้ส่วนหนึ่งในครั้งล่าสุดนี้ด้วย”

“การเรียกร้องเรื่องนี้มานาน แต่ไม่มีใครทำ ผมทำแล้วโดยการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณคณะกรรมการ กพช.ทุกท่านด้วย”

นายพีระพันธุ์ยังระบุอีกว่า แผนในปี 2567 จะ “รื้อ” ระเบียบหลักเกณฑ์เพื่อให้การใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Solar Roof Top ภายในครัวเรือนเป็นไปโดยสะดวกไม่ยุ่งยากอีกต่อไป และจะเริ่มดำเนินการตามนโยบาย “เปิดเสรีการนำเข้าน้ำมัน” ด้วย

รื้อโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติกดค่าไฟ

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเปิดเผยในเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึงการรื้อโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติว่า เดิมบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิการใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ได้ถูกนำมาหารเฉลี่ยกับราคาก๊าซ LNG นำเข้าจากต่างประเทศ และแหล่งอื่น ๆ หรือที่เรียกว่าพูลก๊าซ (Pool Gas) ที่เป็นฐานต้นทุนที่ผลิตไฟฟ้าคนทั้งประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่า

แต่เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายพีระพันธุ์ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีการสั่งการแก้ไข โดยโยกก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทย ในส่วนที่นำไปใช้ผลิตปิโตรเคมีหากำไรเพื่อบริษัท เพื่อนำไปสำรองให้กับการผลิต LPG ประชาชนใช้หุงต้มดำรงชีวิตในราคาถูกที่สุด (ประมาณ 219 บาท) ส่วนการผลิตปิโตรเคมีให้ได้ใช้ในราคาของพูลก๊าซ (ประมาณ 362 บาท)

ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เราเล็งเห็นว่าเป็นธรรม และควรปรับมาเนิ่นนานแล้ว ผลลัพธ์ในการเฉลี่ยราคาแบบใหม่ทำให้ราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนลดลงได้ (ประมาณ 11.50 สตางค์/หน่วย) ในระยะยาว