ภูมิธรรม ถกอุตสาหกรรมยานยนต์ แก้ปัญหาส่งออก หนุนเอกชนปรับตัวรับกติกาโลก

อุตสาหกรรมยานยนต์
Photo : freepik

”ภูมิธรรม“ ถกสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย-กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. แก้ปัญหาส่งออก หนุนเอกชนปรับรับกติกาโลกใหม่ เน้นอุตสาหกรรมยั่งยืน พลังงานสะอาด พร้อมใช้ FTA สร้างแต้มต่อการค้า

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้บริหารจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์) ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาการส่งออกยานยนต์ของไทย พร้อมกับก่อให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้นว่า ผมได้ชี้แจงถึงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา” ที่ยึดหลักที่จะแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรค ให้กับเอกชนในการแข่งขัน ส่งออกไปต่างประเทศ

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

ทั้งนี้ แนวทางและนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ มีแนวทางในการผลักดันการค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมถึงเป้าหมายในการลดภาระต้นทุน ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่อให้เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ รวมไปถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ผู้ส่งออก สร้างรายได้ให้ประเทศ และเดินหน้าใช้ประโยชน์จากการเจรจา FTA สร้างโอกาสทางการค้า หาตลาดใหม่ หาหุ้นส่วนทางการค้า และนักลงทุนให้มากขึ้น พร้อมกับยึดจุดสมดุลทุกฝ่าย

“วันนี้กติกาการค้าโลกใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด การแก้ไขปัญหาถิ่นที่อยู่สินค้า ตนอยากให้ทุกฝ่ายเท่าทัน พัฒนาตามกลไกที่เปลี่ยนแปลง สร้างสมดุลใหม่ และสมาคมมีประเด็นรถยนต์ส่งออกที่ส่งไปออสเตรเลีย มีปัญหาดอกหญ้าและฝุ่นปนเปื้อนไปกับรถยนต์

กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายออสเตรเลีย ศุลกากร ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาไปได้เยอะ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ของแหลมฉบัง ซึ่งเราก็พยายามขจัดออก และจะเรียนท่านนายกฯที่จะเดินทางไปออสเตรเลียให้ทราบ เพื่อใช้ดูแลผู้ประกอบการไทยในการไปเยือนออสเตรเลีย”

ด้านนายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกล่าวว่า สมาคมได้มาขอการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เช่น การเจรจา FTA ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลาย FTA ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์แห่งอนาคต

สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล
สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล

โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เงื่อนไขการส่งออกอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการทำธุรกิจที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนไปสู่ระบบ Paperless และการส่งออกไปจุดหมายสำคัญอย่างออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การผลิตเพื่อขายในประเทศ ปีที่ผ่านมาการผลิตเพื่อขายในประเทศติดลบประมาณ 8% แต่การส่งออกยังดีบวกประมาณ 11% สาเหตุหลักของการติดลบของการผลิตเพื่อขายในประเทศ เป็นเรื่องของปิกอัพเป็นหลัก ติดลบประมาณ 30% มาจากหนี้สินครัวเรือน และการปล่อยสินเชื่อในภาวะ NPL ในระบบการขายรถยนต์สูง

อย่างไรก็ดี ในปี 2567 ได้มีการคาดการณ์ผลิตรถยนต์ไว้ประมาณ 1.9 ล้านคัน โตใกล้เคียงจากปีที่แล้ว รวมไปถึงการขายภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย การส่งออกสินค้ายานยนต์ในปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 25,127.13 ล้านเหรียญสหรัฐ (865,565.58 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 12.96% โดยมีตลาดออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกหลัก ในปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.) ไทยผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 1,156,035 คัน เพิ่มขึ้น 11.44%

สินค้าส่งออก 4 อันดับแรก 1.รถยนต์นั่ง 2.รถปิกอัพ รถบัส และรถบรรทุก 3.รถจักรยานยนต์ และ 4.รถจักรยาน

โดยประเทศที่ส่งออก 10 อันดับแรก 1.ออสเตรเลีย 2.ฟิลิปปินส์ 3.ซาอุดีอาระเบีย 4.ญี่ปุ่น 5.สหรัฐอเมริกา 6.เวียดนาม 7.เม็กซิโก 8.มาเลเซีย 9.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 10.อินโดนีเซีย

ทั้งนี้ FTA ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นฉบับที่ 15 FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทยด้วย