กรมประมงแจ้งความดำเนินคดี 3 บริษัท ตรวจพบ “สวมสิทธิ” เอกสารส่งออกสัตว์น้ำ

บัญชา สุขแก้ว

กรมประมงรุดแจ้งความดำเนินคดี 3 บริษัท ตรวจพบ “สวมสิทธิ” เอกสารการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปต่างประเทศ

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเวลา 13.40 น. วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย กรมประมง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเอกชนผู้ส่งออก 3 บริษัท กรณีสวมสิทธิเอกสารการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปต่างประเทศ หวั่น!! เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อการส่งออกสินค้าประมงทั้งระบบ จ่อกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยได้เข้าพบเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้กรมประมงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัทเอกชนผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ถูกสวมสิทธิเอกสารการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังต่างประเทศ

กรมประมง โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมง จึงได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกของผู้ส่งออกที่ยื่นขอแจ้งดำเนินการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำต่อกรมประมงเพื่อหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว

ซึ่งปรากฏว่า พบการแจ้งข้อมูลในเอกสารยื่นขอแจ้งดำเนินการส่งออกเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีการปลอมแปลงเอกสารราชการ ใช้เอกสารราชการปลอม และยังพบการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย จึงได้ทำการขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติมในบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง พบว่ามีพฤติกรรมการยื่นขอส่งออกสินค้าสัตว์น้ำโดยผิดกฎหมายในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อการส่งออกสินค้าประมงทั้งระบบ อีกทั้งยังกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย ถึงขั้นอาจทำให้ประเทศคู่ค้าระงับการนำเข้าสินค้าประมงของไทยได้

อธิบดีกรมประมงกล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย กรมจึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออก สินค้าประมงผิดกฎหมาย ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับบริษัทผู้ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำนวน 3 บริษัท

ในข้อกล่าวหาตามมาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 158 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, มาตรา 137 มาตรา 265 มาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่างกรรมต่างวาระกัน รวมจำนวน 15 กรรม และหากพนักงานสอบสวนพบการกระทำความผิดในข้อกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเพิ่มเติม ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป