ส่งออกไทย มกราคม 2567 ขยายตัว 10% สูงสุดในรอบ 19 เดือน

ส่งออก
ภาพจาก AFP

ส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เชื่อมั่นปี 2567 โต 1-2%

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (784,580 ล้านบาท) ขยายตัว 10% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และ

สูงสุดในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 9.2% การส่งออกของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ

ประกอบกับปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งมีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทางการค้าในระยะต่อไป

กีรติ รัชโน
กีรติ รัชโน

ส่วนการนำเข้าเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทย ขาดดุล 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับทิศทางการส่งออกในไตรมาส 1 ยังมองว่าขยายตัวเป็นบวก โดยมีความคาดหวังว่าจะไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบโดยเฉพาะเรื่องปัญหาสงครามระหว่างประเทศ และขยายตัวเป็นวงกว้างและยืดเยื้อ ทั้งนี้การส่งออกทั้งปียังมองเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2% โดยหากจะให้การส่งออกโตได้ตามเป้าหมายการส่งออกจะต้องโตเฉลี่ยอยู่ที่ 24,069-24,328 ร้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 9.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พลิกกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 14.0% กลับมาขยายตัวหลังจาก

หดตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 45.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐ อิรัก และเยเมน)

ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 5.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์) ยางพารา ขยายตัว 5.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐ ตุรกี และเวียดนาม)

ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 30.1% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐ เกาหลีใต้ และเวียดนาม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 5.2% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลิเบีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 27.0% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวันมาเลเซีย และฟิลิปปินส์) น้ำตาลทราย หดตัว 16.2% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี แต่ขยายตัวในตลาดลาว กัมพูชา ญี่ปุ่นเวียดนาม และเมียนมา)

ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 58.8% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ จีน และลาว)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 32.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง เยอรมนี และออสเตรเลีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 106.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา และจีน)

ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 3.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และออสเตรเลีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 21.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ อิตาลี ฮ่องกง เยอรมนี และอินเดีย)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 4.7% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย อาร์เจนตินา และอินเดีย)

เคมีภัณฑ์ หดตัว 1.6% หดตัวต่อเนื่อง 21 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐ และกัมพูชา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัว 10.5% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ อิตาลี อินเดีย ฝรั่งเศส และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสเปน)

แนวโน้มส่งออก 2567

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศและจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ 1-2% ต่อไป

กิจกรรมส่งออก

การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมกราคม อาทิ (1) การหารือกับสหรัฐ เพื่อลดอุปสรรคในการส่งออก โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 รวมไปถึงการขอการสนับสนุนให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL)

ทุกบัญชี โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และการเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น

(2) การเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐ และอินเดีย คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการส่งออกเดินทางไปเยือนนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ เพื่อเร่งผลักดันการนำเข้าสินค้าไทยในสหรัฐ ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน แสวงหาผู้นำเข้ารายใหม่ในตลาดสหรัฐ พร้อมการลงนาม MOU สินค้าข้าวหอมมะลิ และอาหารกระป๋อง ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสหรัฐด้วย

นอกจากนี้ยังได้นำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ที่รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย โดยมุ่งหวังที่จะใช้รัฐคุชราตเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งรัฐคุชราตมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน และการก่อสร้าง เป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่จะปักหมุดการลงทุนในรัฐคุชราตได้เพิ่มขึ้น