ไทยเป็นฮับ EV โลกได้แน่ รีไซเคิลแบตเตอรี่จะเกิดที่ EEC เร็ว ๆ นี้

รถ EV

“พิมพ์ภัทรา” ชี้ไทยเป็นฮับ EV โลกได้แน่ หลังจากเป็นฐานการผลิตรถสันดาปซัพพรายเชนของโลกมาแล้ว มีความพร้อมทั้งสิทธิประโยชน์ไม่แพ้ใคร มีพื้นที่ รวมถึงพลังงานสะอาด เชื่อนักลงทุนจับจ้องเลือกลงทุนไทย เร่งการนิคมอุตสาหกรรมฯ หาพื้นที่ตั้ง “ศูนย์การจัดการแบตเตอรี่” ในพื้นที่ EEC

วันที่ 7 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน DALINEWS TALK 2024 ในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก ว่า

มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลชุดเดิมคือ EV 3 จากนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันได้สานต่อนโยบายโดยเกิดเป็น EV 3.5 ที่ยังคงผลักดัน EV ให้ไทยเป็นศูนย์การผลิตรถ EV พวงมาลัยขวาของโลก เช่นเดียวกับการรักษาการเป็นผู้ผลิตรถสันดาป (ICE) ไว้ เพราะไทยยังคงเป็นฮับรถสันดาป และต่อให้มี EV ผู้ตัดสินใจคือผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็ได้พัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไว้รองรับนักลงทุน นี่คือบทบาทของรัฐที่ต้องส่งเสริม สนับสนุน ออกมาตรการ ดูเรื่องกฎหมาย พัฒนาพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็น เพื่อแก้ไขอุปสรรคต่อการลงทุน

“การที่เราจะเป็น EV ของโลกเป็นไปได้แน่ ด้วยเราเคยทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถสันดาปได้ แม้ไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ แต่เราก็เป็นซัพพรายเชนที่แข็งแรงเพื่อป้อนให้กับทั่วโลก เรามี 6 หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาดูแลซัพพรายเชนเดิม เราเชื่อว่าเขาปรับตัวได้

โดยเฉพาะ SMEs เราต้องเข้าไปดู เพราะเขามีความรู้แต่อาจไม่มีเงิน บางรายมีเงินแต่ไม่มีความรู้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงจะเป็นคนเข้ามาช่วยให้เขาปรับตัวไปสู่ซัพพรายเชน EV หรือปรับไปสู่อุตสาหกรรมอื่นได้หรือไม่ อย่างไร หาทางเลือกให้ ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มันสมองของกระทรวงจะทำหน้าที่ดูเทรนด์ของโลก วิเคราะห์ให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวไปพร้อมกัน”

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ไทยมีในขณะนี้ มั่นใจว่ามาตรการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่แพ้ใคร แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องมีสิทธิประโยชน์ออกมาจูงใจนักลงทุนเช่นกัน และไทยไม่ใช้แค่สิทธิประโยชน์ แต่ยังมีความพร้อมในเรื่องของพลังงานสะอาด เป็นสิ่งที่นักลงทุนถามมาทุกครั้งที่ได้มีการหารือ ด้วยกฎกติกาใหม่ของโลกทำให้เรื่องนี้กลายเป็นส่วนสำคัญ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่นักลงทุนเข้ามาจะต้องแลกกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การพัฒนาบุคลากร ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ได้เคยหารือกับทางหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าทักษะของบุคลากรต้องมาก่อน รัฐจึงต้องมีการรีสกิล อัพสกิล

ซึ่งได้ร่วมกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้รู้ว่าตลาดต้องการอะไร คู่กับเงื่อนไขของบีโอไอ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรม EV และอื่น ๆ ที่กำลังจะเข้ามา

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเป็นฮับ EV โลกนั้น จะต้องมีทุกอย่างให้ครบทั้งระบบ ทั้งวงจร ซึ่งนั่นรวมไปถึงแบตเตอรี่รถ EV ซึ่งรัฐสนับสนุนต้นน้ำ คือการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ และต้องมีการรีไซเคิลแบต แต่การรีไซเคิลต้องไม่กระทบกับสังคมและประชาชน

จึงได้มีการหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้เกิดการจัดตั้งศูนย์การจัดการแบตเตอรี่ ในพื้นที่ EEC โดยขณะนี้ให้ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม หากไทยมีตรงนี้เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่นักลงทุนเลือกไทยเช่นกัน

“เรามีผู้ประกอบการ รัฐวิสาหกิจ เราพบแหล่งแร่เหมืองลิเทียม รัฐทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน ทั้งหมดนี้มันสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ไทยโชคดีที่รัฐเข้ามาช่วย เมื่อ EV มันเกิด สถานีชาร์จก็ต้องพร้อมและต้องมีให้เพียงพอกับผู้บริโภค ตอนนี้เรามีให้เลือกทั้งรถกระบะ ECO Car จากนี้ก็จะมี EV ทำให้วันนี้เรามีโปรดักต์ให้ผู้บริโภคเลือกเยอะ นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกว่าเราไม่ทิ้งรถสันดาป และเดินหน้า EV คู่กันไป”