ราคายาง 91 บาท ปศุสัตว์สั่งรองเท้าบูท 3 พันคู่ ‘ดีสโตน-โอตานิ’ ผลิตล้อ Green Tyre

ยางพารา

ข่าวดีชาวสวนยาง ตลาดยางคึกคักอีกรอบ กรมปศุสัตว์ สนับสนุนเกษตรกร เตรียมสั่งรองเท้าบูทยางพารา 3,000 คู่ ‘สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ’ เตรียมผลิต ล่าสุดกยท.จบดีล สั่ง ‘ดีสโตน-โอตานิ’ ผลิตล้อยาง โครงการ Green Tyre นำร่องยางล้อรถกระบะใช้ในหน่วยราชการ เป้าหมาย 5,000 เส้นในระยะแรก ภายใน 1 ปี 60,000 เส้น งบประมาณที่ใช้ 90 ล้านบาท

วันที่ 17 มีนาคม 2567 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ตลาดกลางยางพารา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดการรับซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 91.71 บาท/กิโลกรัม ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา อีกทั้งสหกรณ์กองทุนชาวสวนยางโสตประชา จำกัด ยังได้ปรับราคารับซื้อน้ำยางขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 85 บาทเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

“ราคายางที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ตลาดยางพาราได้รับแรงบวกจากความต้องการใช้อย่างที่เพิ่มขึ้นโดยล่าสุดจากการที่ กยท. ได้เข้าพบนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้รับที่จะให้การสนับสนุนสถาบันเกษตรกรผลิตรองเท้าบูทจากยางพาราจำนวน 3,000 คู่ ซึ่งจะใช้ยางแผ่นเป็นวัตถุดิบจากก่อนหน้านี้ที่ กยท.ได้ผลักดันการผลิตล้อยางสำหรับใช้ในประเทศแล้ว”

สำหรับกระบวนการผลิตเบื้องต้นขณะนี้มีโรงงานแปรรูปยางแผ่นเป็นรองเท้าบูทอยู่ที่ สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิต 2000 คู่ต่อเดือน ราคาจำหน่ายตั้งแต่ 185 ถึง 200 บาทขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อ

คุณสมบัติรองเท้าบูทยางพารา

ทั้งนี้คุณสมบัติของรองเท้าบูท P-VEA ที่ผลิตจากวัตถุดิบยางพาราจากสมาชิกสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด เป็นการผลิตโดยการนำน้ำยางพาราสดมาทำเป็นยางแผ่นรมควันและนำมาแปรรูปเป็นรองเท้าบูทยางพารา ผลิตจากยางธรรมชาติ 100% มีความหนาพิเศษ กันลื่นเมื่อสวมใส่ในพื้นที่เปียกชื้นผ่านการทดสอบจากศูนย์เครื่องมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รองเท้าไม่พับงอเม่อถอดออก ทำให้เก็บรักษาง่าย สึกหรอช้า เนื่องจากมีส่วนผสมจากยางพาราแท้ 100% ทนต่อการหักงอ 160,000 ครั้ง ทำให้ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนการออกแบบดีไซน์ทันสมัยมีสีสันให้เลือกสีดำ สีขาว สีฟ้า สีเขียว เหมาะสำหรับเกษตรและทุกอาชีพ

เปลี่ยนชื่อล้อยาง Green Tyre

ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำล้อยาง กยท.ล่าสุด นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ได้นำโครงการยาง Thai Tyre ล่าสุดเปลี่ยนเป็น Green Tyre เพื่อให้เข้ากับกระแสสิ่งแวดล้อม และการผลิตยางล้อรถจะผลิตยางล้อสำหรับรถกระบะ ที่จะใช้ในหน่วยงานราชการ

กยท.สั่งผลิต 2 โรงงานยาง

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบ โดยเจรจาจัดจ้างผู้รับจ้างผลิต(OEM) 2 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทย คือ บริษัท ดีสโตน จำกัด และบริษัท ยางโอตานิ จำกัด ที่จะผลิตยางล้อให้ ทั้ง 2 บริษัทนี้จะรับซื้อยางพารากับ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง ส่วนราคาที่รับซื้ออยู่ในระหว่างการพิจารณาของบอร์ดว่าจะรับซื้อเท่าไร รอสรุปผล

สำหรับแนวทางการผลิตเบื้องต้นนั้น ตั้งเป้าหมายในการผลิตยางล้อที่ใช้ในรถกระบะไว้ที่ 5,000 เส้น โดยวางตลาดคือกลุ่มรถกระบะในส่วนของภาครัฐ และภายใน 1 ปี 60,000 เส้น โดยวางงบประมาณที่ใช้ประมาณ 90 ล้านบาท

“หากที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบ เป็นไปได้จะเห็นยางล้อได้ในงาน “TyreXpo Asia 2024 ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2567 ที่ประเทศไทยครั้งแรก และเป็นความร่วมมือ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมกับ ทาร์ซัส กรุ๊ป พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมยาง และ กยท.”