เปิดภารกิจร้อน ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ เทพรัตน์ เทพพิทักษ์

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

สิ้นสุดการรอคอยอย่างยาวนานสำหรับกระบวนการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 16 ที่ใช้เวลานานข้ามปีตั้งแต่ปี 2565-2566 จนเปลี่ยนผ่านมา 2 รัฐบาล กว่าจะได้ข้อสรุป ในชื่อ “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” แคนดิเดตหนึ่งเดียวคนเดิม ผู้ที่จะมานำพา กฟผ.ผ่านวิกฤตการแบกภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน 1 แสนล้านบาท พร้อมกับขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ผู้ว่าการ กฟผ. ถึงภารกิจสำคัญในเวลา 1 ปี 4 เดือนก่อนเกษียณ

ชู 5 ภารกิจ

นายเทพรัตน์ฉายภาพว่า 5 ภารกิจนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญ คือ 1.ความมั่นคงด้านไฟฟ้า 2.ความสามารถในการแข่งขัน 3.การดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม 4.กลไกของรัฐ 5.การส่งรายได้เข้ารัฐ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าไฟฟ้า คือ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามา เนื่องจากเขาจะมองความมีเสถียรภาพเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการพิจารณาเรื่องของราคา

“ต่อให้ค่าไฟฟ้าราคาแพง แต่หากไฟฟ้ามีความเสถียร นั่นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2521 หรือกว่า 46 ปีก่อน ประเทศไทยเกิดไฟฟ้าดับทั้งประเทศ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลต้องบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมา ทำให้รู้ว่าระบบไฟฟ้านั้นหวั่นไหวขนาดไหน การแข่งขันของประเทศซึ่งแข่งกันเรื่องนี้”

ปี’67 คาดไฟพีกกว่าปี’66

ปีนี้ฤดูร้อนมาเร็วกว่าทุกปี บวกกับปริมาณฝนที่อาจไม่ได้มาก และยังมีเรื่องของปริมาณความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงมีการคาดการณ์ว่า ปี 2567 นี้ การใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนั้นอาจเกิดการพีกสูงกว่าปี 2567 เพราะเราเห็นแนวโน้มการใช้ไฟมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 ที่พบว่าไฟพีกเกินไตรมาส 1/2566 ไปแล้ว

นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จอีวี ทำให้ กฟผ.จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก

อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้มีความยืดหยุ่น การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

“บริหารจัดการค่าไฟฟ้าต้องให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย”

พลังงานหมุนเวียน 50%

ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) กำหนดให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้ามาให้ได้ 50% แล้วจะทำอย่างไร คือ การเพิ่มพลังงานทั้งจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ พลังงานลม หรือแม้แต่จะเป็นพลังงานจากน้ำ

“อย่างการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการช่วยเพื่อนบ้าน หากเราไม่ซื้อก็มีคนที่จ้องจะซื้ออยู่แล้ว เราจะทำให้สูญเสียโอกาสตรงนั้นทำไม”

ส่วนการบริหารจัดการพลังงานทดแทน จำเป็นที่ต้องมีศูนย์บริหารจัดการขึ้นมา หรือที่เราเรียกว่า ดีมานด์ เรสปอนส์ คอนโทรล เซ็นเตอร์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยทั้งการพยากรณ์ล่วงหน้าว่า ลม ฟ้า แดด ตรงพื้นที่ไหนจะมาจะไปในอีก 1 ชั่วโมง ทำให้เราจัดการล่วงหน้าได้ว่า โรงไฟฟ้าไหนจะเดินเครื่อง โรงไหน พื้นที่ไหนหยุดก่อน ดังนั้น ตัวโรงไฟฟ้าเองก็จำเป็นที่ต้องมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับกริด และในอนาคตจะต้องมีระบบกักเก็บพลังงานอย่างแบตเตอรี่เข้ามามากขึ้น

ทั้งให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ อย่างการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ.

และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง

“ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า ในช่วงต้นเราอาจจะได้เกรย์ไฮโดรเจน และบลูไฮโดรเจน ส่วนในอนาคตจะได้กรีนไฮโดรเจน และเรายังศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย”

ตรึงค่าไฟงวด 2 เหมาะสม

“เรามองว่าค่าไฟฟ้าในระดับ 4.18 บาท/หน่วย ถือเป็นอัตราที่สมเหตุสมผล และจากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นงวด 2 หรือ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 ได้แนวทางสุดท้ายที่จะยืดหนี้ กฟผ. 7 งวด เพื่อดูแลค่าไฟให้อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และคาดว่า กฟผ.จะได้รับชำระหนี้คืนหมด เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพราะหากยืดหนี้ออกไปเรื่อย ๆ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ หรือเครดิตเรตติ้ง ซึ่งเราไม่ต้องการให้ถูกปรับลดลง เพราะจะมีผลต่อการลงทุนและการนำเงินส่งให้รัฐ”

คิดค่าไฟ 1 ปี/ครั้ง – แก้หนี้

นายเทพรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้า 99,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่มีอยู่กว่า 150,000 ล้านบาทซึ่งแนวทางการบริหารสภาพคล่องตรงนี้ หรือภาระหนี้ที่เกิดจากการดูแลค่าไฟฟ้า จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ หรือการปรับการคำนวณค่าไฟฟ้าทุก 1 ปี จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันผวนกระทบต่อค่าครองชีพและการคำนวณต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมและกระทบราคาสินค้า

“หากสามารถปรับการคำนวณค่าไฟฟ้าทุก 1 ปี จะส่งผลดีต่อค่าไฟฟ้าระยะยาวและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แม้ว่าต้นทุนพลังงานจะผันผวนตามปัจจัยต่าง ๆ แต่ กฟผ.จะสามารถบริหารต้นทุนพลังงานและทางบัญชี เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศได้”

จ่อลงทุน 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนแผนการลงทุนของ กฟผ. ในปีนี้มีงบฯลงทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท โดยหลักจะใช้ปรับปรุงระบบสายส่ง โรงไฟฟ้า และส่วนหนึ่งก็เป็นงบฯค้างจ่าย ซึ่งเราจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งงบฯในส่วนนี้จะใช้ในการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ก็ต้องเตรียมรับมือหรือแผนอื่นล่วงหน้า อย่างการนำเข้า LNG เข้ามา หากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ไม่พอ แม้ว่าตอนนี้ ปตท.สผ. จะยืนยันว่าสามารถทำได้ตามเป้าแล้วก็ตาม