ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รับไม้ต่อ “คมกฤช” นั่งเลขาฯ กกพ.

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์

กกพ.เคาะ ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ลูกหม้อกระทรวงพลังงาน นั่งเลขาฯ กกพ.คนใหม่แทน “คมกฤช” ที่จะหมดวาระ 31 พ.ค.นี้ หลังโค้งสุดท้ายเบียดชนะคนใน ชี้ผลงานพลังงานมีเพียบ แถมเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศสุด ๆ

วันที่ 25 มีนาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานคนใหม่ คือ ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ แทนนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะหมดวาระวันที่ 31 พ.ค. 67

ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าสัมภาษณ์ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในช่วงเช้าวันที่ 25 มี.ค. จนกระทั่งสามารถเอาชนะผู้สมัครอีก 3 ราย ซึ่งประกอบด้วย นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. นายเอกรินทร์ วาสนาส่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BOTLINK และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยานยนต์ไฟฟ้า และ น.ส.รังสิมา พักเกาะ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายงาน สำนักงาน กกพ. ปัจจุบันอยู่บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์

สำหรับ ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ปัจจุบันเป็นรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ประวัติการศึกษาจบเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) สหรัฐอเมริกา เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ เศรษฐศาสตรบัณฑิต (ภาคภาษาอังกฤษ)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญงานด้านต่างประเทศอย่างมาก หลังจากผ่านงานด้านผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน, กำกับและดูแลการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี, คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

พร้อมกันนี้ ผ่านหลักสูตรนักบริหารระดับสูง หลักสูตรที่ 1 (นบส.1) รุ่นที่ 93, พลังงานสำหรับผู้บริหารรุ่นที่ 1 (Executive Energy Program) สภาอุตสาหกรรมประเทศไทย, สถาบันวิทยาลัยพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 11 และนักบริหารพลังงานระดับสูงรุ่นที่ 11 กระทรวงพลังงาน

ส่วนผลงานที่สำคัญ เช่น การผลักดันความร่วมมือในการรับซื้อไฟฟ้าระดับภูมิภาค Multilateral Power Trade แห่งแรกของอาเซียนร่วมกันระหว่างไทย-ลาว-มาเลเซีย (LTM-PIP)

การเป็นประธานเตรียมการในการปรับปรุงความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม ASEAN Petroleum Security Agreement (APSA)

และการร่วมผลักดันการจัดตั้งเวทีการหารือทางด้านพลังงานไทย-สหรัฐ US-Thailand Energy Policy Dialogue. ตลอดจนการร่วมผลักดันการจัดตั้งเวทีการหารือทางด้านพลังงานไทย-ญี่ปุ่น Japan-Thailand Energy Policy Dialogue

การเตรียมการด้านท่าทีในการเจรจาเพื่อการพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา การติดตามความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมไทย-มาเลเซีย MTJA
การเตรียมการเรื่องการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25

นอกจากนี้ ยังมีการบริหารการจัดเก็บรายได้และค่าภาคหลวงของแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม คณะกรรมการการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) กระทรวงพลังงาน

คณะอนุกรรมการกำกับการจัดหาและบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของประเทศ