ทำสงครามโรคระบาดหมู ASF ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาด่วนทั่วประเทศ

หมู

รมช.ประภัตร เชื่อมีปัจจัยอื่นแทรกซ้อนทำหมูราคาแพง นอกเหนือจากต้นทุนสูง และการเกิดโรคระบาด ASF พร้อมรับลูกนายกฯ ตั้งวอร์รูมทั่วประเทศ ควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น

วันที่ 15 มกราคม 2565 นายประภัตร โพธสุธน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าต้นเหตุที่ราคาเนื้อสุกรมีราคาแพงขึ้นนั้น เกิดจากการเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จึงขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีจำนวนสุกรที่เข้าโรงเชือดที่มีปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงมีราคาแพงขึ้น

โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญอาจมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จึงได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประภัตร โพธสุธน
ประภัตร โพธสุธน

อย่างไรก็ตาม กรณีการพบการระบาดของโรค ASF นั้น กรมปศุสัตว์จะจัดตั้งวอร์รูมขึ้นทั่วประเทศ เพื่อสแกนพื้นที่เสี่ยงในการเกิดโรคระบาด ASF พร้อมเข้าช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย ในการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะมีอาสาปศุสัตว์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

“ขอยืนยันว่าหากตรวจพบการเกิดโรค ASF กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ จะเร่งเข้าควบคุมโรคโดยทันที ภายใต้มาตรการต่าง ๆ อย่างรัดกุม และจำกัดวงเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด”

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศพบโรค ASF ในสุกร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยอย่างมาก ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดหมู โดยได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่

โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์ และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเพื่อเร่งสอบสวนหาสาเหตุเพื่อควบคุมโรคได้โดยเร็ว และให้เพิ่มช่องทางและเน้นการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เสียหาย เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการผลิตสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด นั้น

กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทันทีตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมด่วนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากประชุมกับนายกรัฐมนตรีวันที่ 14 ม.ค.ทันที ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วยสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด ด่านกักกันสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ เป็นต้น

เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยได้สั่งการให้ทุกเขตและจังหวัดจัดตั้ง WARROOM เพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชนและรายงานการดำเนินงานทุกวันต่อผู้บริหารอย่างทันท่วงที ทุกพื้นที่ให้การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมป้องกันและการเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องโปร่งใส ไม่มีการสร้างเงื่อนไข

“นายกฯสั่งการให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแก่เกษตรกร สำรวจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและปริมาณหมูที่คงเหลือในระบบ พร้อมทั้งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความต้องการสุกรทั้งระบบ ให้ศึกษาการเพิ่มผลผลิตสุกรแม่พันธุ์และลูกหมูในระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพและการช่วยเหลือบริการเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็ก”

พร้อมเร่งให้มีการช่วยเหลือด้านอาหารสัตว์และศึกษาวิจัยด้านอาหารสัตว์เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต การร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น พาณิชย์ในการตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง การรายงานโรคตามระบบรายงานโรคระบาดในสุกรให้ดำเนินการตามมาตรการที่แจ้ง

โดยจังหวัดที่พบโรคให้รีบรายงานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการและส่วนกลางทันที บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและหาสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว ทำการประเมินความเสี่ยงและการตรวจสอบให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อโรค ASF ในสุกรก่อนทำการลงเลี้ยงรอบใหม่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยทำการเลี้ยงโดยปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้ดีที่สุด เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาที่จำเพาะ

โดยทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายสามารถป้องกันการเกิดโรคได้และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และการรายงานผลตรวจโรคหากตรวจพบผลบวกต่อเชื้อ ASF ในสุกรให้ในใบรายงานผลเพิ่มข้อแนะนำและมาตรการดำเนินการให้เกษตรกรทราบเพื่อจะได้ดำเนินการได้ถูกต้องเพื่อลดความเสียหายจากการแพร่กระจายโรคด้วย

ทั้งนี้ ขอย้ำให้ทุกเขตทุกจังหวัดทำการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรรายย่อยให้ปรับปรุงฟาร์มให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันโรค หากพบโรคให้จังหวัดรายงานและดำเนินการสอบสวนทันที ถ้าไม่ทำตามจะถือว่ามีความผิดละเลยการปฏิบัติงานในหน้าที่ การปฏิบัติงานและการรายงานของ WARROOM ในทุกเขตและจังหวัดให้ดำเนินการทุกวันไม่เว้นแม้ในวันหยุดราชการและเสาร์-อาทิตย์จนกว่าสถานการณ์โรคจะคลี่คลาย

พร้อมเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้บริการเกษตรกรและจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจากการทำลายสุกรเพื่อป้องกันโรคโดยเร็ว โดยขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ การดำเนินงานทุกอย่างให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวทิ้งท้าย