“วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน” จังหวะทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมไทย

สงคราม รัสเซีย ยูเครน

กว่า 1 เดือนที่ไทยจมดิ่งอยู่กับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ในร้ายอาจจะมีดี

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังเอกชนในอุตสาหกรรม “ปุ๋ย พลังงาน อาหาร อะลูมิเนียม” ซึ่งต่างกำลังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต

ดันฮับปุ๋ยชีวภาพ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนมุมมองว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นหลังจากที่ไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้มีเพียงข้อเสียเปรียบด้านลบเท่านั้น

แต่ในมุมกลับกันไทยกลับมองเห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรที่ปัจจุบันไทยยังคงต้องพึ่งพาวัตถุดิบอย่างปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ 1 ใน 4 ของโลก เมื่อมีการระงับการส่งออกปุ๋ยไทยจึงได้รับผลกระทบโดยตรง

แต่อีกด้านหนึ่งวิกฤตห้ามส่งออกปุ๋ยอาจจะกลับเป็นโอกาสของการผลักดันให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยเพิ่มสัดส่วนปุ๋ยชีวภาพให้เป็น 50% ของผลผลิตภาคการเกษตร และลดสัดส่วนปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้ามาให้เหลือเพียง 50% เท่านั้น

ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนเพาะปลูกถูกลง ราคาสินค้าการเกษตรก็จะดีขึ้น ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ

“เราไม่สามารถทำให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ 100% ได้ แต่เราสามารถเพิ่มสัดส่วนได้โอกาสครั้งนี้ไทยจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว เราสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ ใช้ทั้งในประเทศและส่งออก”

ลุยแผนลดคาร์บอน

นอกจากนี้ ยังเห็นโอกาสของด้านพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันไทยพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลจำนวนมาก 60% คือ ก๊าซ เช่นเดียวกันวิกฤตครั้งนี้จะทำให้เกิดการปัดฝุ่นนโยบายเดิมที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มีมากขึ้น

สอดรับกับการประชุม COP26 ที่มุ่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มคาร์บอนเครดิต

ขณะเดียวกัน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเขื่อน “ไฮโดร” จะเข้ามามีบทบาทสูงขึ้น ซึ่งอาจใช้โมเดลเดียวกับญี่ปุ่นในรูปแบบมัลติฟีด คือ การใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูกและดีที่สุดในช่วงปีนั้น ๆ มาผลิตไฟฟ้า จะทำให้พลังงานมีมากพอและราคาไม่แพง

ขณะที่ “นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนเริ่มปรับตัวรับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยปรับต้นทุนการขายให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานมากขึ้น และลดการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว

ขณะเดียวกัน ก็เห็นถึงโอกาสที่ไทยเองมีความสามารถที่จะผลิตแผงโซลาร์เอง ตลอดจนนำเศษอะลูมิเนียมหมุนวนกลับมาใช้ลดทั้งค่าไฟฟ้าเเละลด CO2 emission ได้อีกทาง

“สมาชิกได้มีการเตรียมตัวสำหรับการผลิตอะลูมิเนียมที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำ เพื่อให้ผ่านมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปโดยการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์

“นอกจากนี้ สมาชิกในกลุ่มยังได้เริ่มผลิตแผงโซลาร์เพื่อจำหน่าย และเพิ่มการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 95% โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงแค่ 5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับเวอร์จิ้นอะลูมิเนียม และยังลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 90% โดยประมาณอีกด้วย เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมไทยจะได้โอกาสจากวิกฤตครั้งนี้”

ดีมานด์อาหารโลกฟื้น

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า นับเป็นโอกาสที่อาหารไทยจะขยายตลาดไปได้ไกลกว่าเดิม ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ เพราะเมื่อในหลายประเทศขาดแคลนอาหาร วัตถุดิบ ไทยที่เน้นการส่งออกอาหารอยู่แล้วจะได้รับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพวกอาหารกระป๋องมีโอกาสที่จะส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น