ศธ.ขออย่าเพิ่งด่วนสรุปสาเหตุเยาวชนยิงกลางห้าง หรือโทษสถานศึกษา

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

กระทรวงศึกษาธิการเร่งถอดบทเรียนเยาวชนอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงกราดกลางห้าง ลงพื้นที่กำชับโรงเรียนดูแลสภาพจิตใจเด็ก-ครู ขออย่าเพิ่งด่วนสรุปเหตุการณ์หรือโทษสถานศึกษา ควรช่วยกันหามาตรการป้องกัน ปราบปราม ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ 

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 มติชนรายงานว่า นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. แถลงข่าวกรณีเด็กชายอายุ 14 ก่อเหตุ ใช้อาวุธปืนยิงคนในห้างดัง เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น 

ซึ่งหลังจากทราบเหตุ ศธ.ก็ได้มีการติดตามสถานการณ์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ขอแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน

โดยจากการตรวจสอบ เด็กที่ก่อเหตุเป็นนักเรียนศูนย์การศึกษาทางเลือก เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง ศธ.มีหน้าที่อนุมัติการเรียนการสอน 

โดยพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลาง ส่วนรูปแบบการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละแห่งจะกำหนดร่วมกัน โดยโรงเรียนลักษณะดังกล่าว มีอยู่กว่า 2,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯมีอยู่กว่า 10 แห่ง การเรียนการสอนจะแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น เน้นการจัดการเรียนการสอนสู่ความเป็นเลิศ หรือกลุ่มที่มีเงื่อนไขที่ผู้ปกครองต้องจัดการเรียนการสอนกันเอง

นายสิริพงศ์กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ก็ต้องให้ ศธ.มีการถอดบทเรียน ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร ศธ.เองยังไม่ด่วนสรุป และยังไม่ด่วนโทษว่าเป็นความผิดของผู้ใด หน่วยงานใด หรือเป็นความผิดของสิ่งใด แต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ การหาเหตุจูงใจเพื่อถอดบทเรียน แล้วนำมาสู่การป้องกัน และแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพฯ เขต 1 ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเด็กคนดังกล่าวมีปัญหาทางสภาพจิต แต่ก็ไม่สามารถที่จะฟันธงได้จากคำให้การของผู้บริหารเพียงคนเดียว และยังไม่สามารถโทษว่าเป็นความผิดของสถานศึกษาที่ประกอบการเรียนการสอน 

แต่วันนี้เมื่อผู้เยาว์ก่อเหตุ ก็เป็นเรื่องที่ ศธ.ต้องทำความเข้าใจว่าเด็กที่ก่อเหตุ เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนตัวผมมองว่าเราควรหามาตรการป้องกันปราบปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก เพราะในความเป็นจริงเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในทุกระบบการศึกษา 

ซึ่งมีการพูดคุยในเรื่องการดูแลสภาพจิตใจเด็กในระบบทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งต้องยอมรับว่า เด็กและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในสภาวะที่เครียด และกดดันเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา ศธ.พยายามอบรมให้ความรู้ หากิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายเพื่อลดทอนความเครียด สำหรับหน่วยงานใต้สังกัด ศธ. ผมคิดว่า สามารถดูแลได้โดยง่าย เพราะเป็นหน่วยใต้สังกัดที่บังคับบัญชาได้ แต่สำหรับหน่วยงานที่ ศธ.มีหน้าที่แค่กำกับดูแล ผมคิดว่า อาจจะต้องหาข้อตกลงร่วมกัน” 

ตรวจสอบโรงเรียน

นายสิริพงศ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางเขตพื้นที่ยังได้รายงานว่า มีการสอบถามผู้ปกครองเบื้องต้น แต่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากเท่าไรนัก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิทธิของผู้ปกครอง ที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล ในส่วนของ ศธ.ก็ทำหน้าที่แสดงความห่วงใย และได้ลงพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลก็พบว่าโรงเรียนดังกล่าว ไม่ได้ขอจัดตั้งเป็นโรงเรียน แต่เป็นศูนย์การเรียนที่ค่อนข้างมีความพร้อม มีนักเรียนกว่า 800 คน ครูผู้สอนกว่า 115 คน อัตราครูต่อนักเรียนอยู่ที่ 1 : 7 ถือว่าให้ความเข้มข้นอัตราครูและนักเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นโรงเรียนที่มีค่าเทอมค่อนข้างสูง

อย่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มีค่าเล่าเรียนเทอมละกว่า 1 แสนบาท และถ้าเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษจะมีค่าเล่าเรียนกว่า 3 แสนบาท แต่จะแตกต่างกับโรงเรียนนานาชาติที่จะมีกฎระเบียบเข้ามากำกับดูแล และทราบว่าโรงเรียนดังกล่าวมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นหนึ่งในผู้บริหารโรงเรียน แต่เบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่หากจะมีการพูดคุยคงเป็นในระดับผู้ใหญ่ ซึ่งเข้าใจว่าโดยส่วนตัว นพ.ธีระเกียรติเองก็เป็นคนเก่ง มีความรู้มาก และคงกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่อยากให้ด่วนสรุป คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม

ขออย่าด่วนสรุปเหตุการณ์

ส่วนกรณีที่มีกระแสว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กก่อเหตุมาจากการติดเกม ส่วนตัวก็ไม่อยากให้ด่วนสรุปเช่นนั้น แต่สิ่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น แต่ควรจะเป็นผู้ปกครองและคนในสังคมทุกคน ต้องเข้ามาช่วยกัน ดูแลการเข้าถึงสื่อทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะเกม แต่รวมถึงภาพยนตร์ซึ่งจะมีเรตมาตรฐานกำกับอยู่ ดังนั้นแต่ละครอบครัว ควรจะให้คำแนะนำเยาวชนในการเข้าถึงสื่อแต่ละประเภทตามช่วงอายุที่กำหนด เพราะบางครั้งผู้ปกครองเองอาจมีการหลงลืม

สำหรับการปรับหลักสูตรนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนโยบายอยากให้เน้นในเรื่องเรียนดี มีความสุข สร้างทักษะให้เด็กได้รับการแนะแนวทั้งจากครอบครัวและครู ให้เขาเรียนไปแล้วสามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันยังเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพจิต โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงกับกรมสุขภาพจิต ให้เข้ามาช่วยให้ความรู้กับบุคลากร ให้รู้วิธีติดต่อสื่อสารสังเกตอาการเด็กเพื่อจะได้สื่อสารกับผู้ปกครองอย่างตรงไปตรงมา โดยก่อนหน้านี้ยังพูดถึงโรงเรียนของผู้ปกครองที่จะให้คำแนะนำสนับสนุนการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็กอย่างมีความสุข

“ในส่วนของคดีความต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากว่า ผู้ปกครองไม่มีความสามรถในเรื่องของการต่อสู้คดีและปกป้องสิทธิ ศธ.ก็อาจต้องเข้าไปช่วยดูแล แต่โดยหลักการเรื่องของกฎหมายก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศธ.มีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดการศึกษา” 

ย้ำทุกโรงเรียนตรวจสอบความปลอดภัย

ด้านนายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพฯ เขต 1 กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนพบว่า ขณะนี้โรงเรียนอยู่ระหว่างปิดภาคเรียน โดยเด็กมีประวัติการรักษาทางจิต ซึ่งทางโรงเรียนมีการประสานกับผู้ปกครองมาโดยตลอด

ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าวถือเป็นโรงเรียนทางเลือก ซึ่งตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สมาคม หรือสถานประกอบการสามารถเปิดศูนย์การเรียนได้ เป็นการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งยืดหยุ่นทั้งวิชาเรียน เนื้อหา และการวัดผลประเมินผล

ส่วนจะสามารถเพิกถอนการจัดตั้งได้หรือไม่นั้น ศธ.มีอำนาจควบคุมเรื่องวิชาการ และการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนเท่านั้น และกรณีนี้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าโรงเรียนมีความผิด หรือมีส่วนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำให้โรงเรียนดูแลความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้นักเรียนพกพาอาวุธเข้ามาในโรงเรียน รวมถึงอยากให้ช่วยดูแลสภาพจิตใจ นักเรียนและครู หากพบเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจ ครูก็จะต้องดูแลและประสานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด