บพท. MOU ม.กว่างซี แลกเปลี่ยนความรู้แก้ปัญหาความยากจนไทย-จีน

บพท.-ม.กว่างซี

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่างซี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างไทย-จีน 

วันที่ 19 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแก้ปัญหาความยากจน ระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) แห่งราชอาณาจักรไทยกับมหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ความยากจนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานาน ประเทศไทยถูกระบุว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลำดับต้นของโลก หน่วยงานรัฐเพียงลำพังไม่อาจรองรับภารกิจของการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง

จึงได้วางหมุดหมายให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำรายครัวเรือน โดยใช้โมเดลแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีน องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ 

โดยเฉพาะพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุด จากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562 ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะเป็นกลไกหลักในการเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ทั้งการเก็บข้อมูล การวิจัย และยกระดับด้านอาชีพความเป็นอยู่ พัฒนาทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่ชุมชนนั้น ๆ

นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่างซี นับเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือกันของหน่วยราชการ 2 ประเทศในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน บนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน

“เหตุผลสำคัญที่เราเลือกทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่างซี มณฑลกว่างซี เนื่องจากมณฑลกว่างซีกับประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งด้านวัฒนธรรม หลักคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนสภาพภูมิประเทศ ขนาดพื้นที่ รวมทั้งขนาดประชากร จึงเหมาะสมที่จะแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ต่าง ๆ ร่วมกันได้

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกันของ บพท. และมหาวิทยาลัยกว่างซี จะนำความรู้ด้านการแก้ปัญหาความยากจนไปใช้ในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ 7 จังหวัด เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ลำปาง มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา ก่อนที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป”

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวเสริมว่า ขอบเขตความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่าง บพท. กับมหาวิทยาลัยกว่างซี ครอบคลุม 4 มิติคือ

    1. มิติของความร่วมมือกันด้านองค์ความรู้ และบัญชีรายชื่อนวัตกรรมตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจน
    2. มิติของผลผลิต ห่วงโซ่คุณค่า และกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจน
    3. มิติต้นแบบพื้นที่ หรือหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน อย่างน้อย 1 แห่ง
    4. มิติความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่เห็นชอบร่วมกัน

“อย่างไรก็ตาม การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว นับเป็นปฐมบทของการเปิดประตูเชื่อมโยงองค์ความรู้แก้ปัญหาความยากจนของประชาคมนักวิจัยไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย บพท.มีความคาดหวังและตั้งใจจะต่อยอดขยายผลชุดความรู้จากงานวิจัยแก้จน ออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศเพื่อนบ้านของเรา”