มทร.ธัญบุรี จัดตั้งโครงการ จักรยานยนต์ไฟฟ้า-พร้อมสถานีชาร์จ ในมหา’ลัย

มทร.ธัญบุรี ลดคาร์บอนในมหา’ลัย จัดตั้งโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้า-พร้อมสถานีชาร์จ ตั้งเป้านักศึกษา บุคลากร หันมาใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 20% ทุกปี

วันที่ 18 มีนาคม 2567 นายเรวัต ซ่อมสุข ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรีประกาศขับเคลื่อนนโยบาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมา

โดยในปี 2035 มทร.ธัญบุรีจะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่จะช่วยแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกได้ จึงเป็นที่มาของนโยบาย Green Campus ทำให้มทร.ธัญบุรี มีโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการลงนามความร่วมมือกับบริษัท พาวเวอร์ เน็คซ์ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโครงข่ายการจัดการพลังอัจฉริยะ ดำเนินการโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และระบบโครงข่ายสถานีชาร์จแบบสลับแบตเตอรี่จากตู้คีออส

โดยโครงการจะเริ่มปลายเดือนมีนาคมนี้ คาดหวังว่าจะเกิดการลดใช้พลังงานน้ำมัน ลดฝุ่นละออง ลดมลภาวะทางเสียง รวมถึงเป็นการลดภาระด้านค่าใช้จ่าย เนื่องจากพลังงานไฟฟ้ามีราคาที่ประหยัดกว่าน้ำมัน และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาอีกด้วย

นายเรวัตกล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบของโครงการดังกล่าวจะแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ลักษณะ คือโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และระบบโครงข่ายสถานีชาร์จแบบสลับแบตเตอรี่จากตู้คีออส

โดยโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านี้จะมี 2 รูปแบบคือ บริการเช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรูปแบบการซื้อขาดจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทางบริษัทพาวเวอร์ เน็คซ์ จะเป็นผู้จัดหาจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย โดยมหาวิทยาลัยจะรณรงค์ในเรื่อง นักศึกษาและบุคลากรสามารถจัดหารถไฟฟ้ามาใช้ด้วยความสมัครใจ

ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรีมีเป้าหมายที่จะพยายามลดจำนวนจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันให้มากที่สุด ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าในมหาวิทยาลัยมีจักรยานยนต์เข้ามาจอดประมาณ 800 คันต่อวัน แต่เข้า-ออกภายในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 3,000 เที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ มุ่งหวังว่าบุคลากรและนักศึกษาจะหันมาใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 20%ทุกปี ซึ่งการผลักดันให้เกิดการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า

มหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านการให้บริการเช่นกัน โดยจะให้มีศูนย์บริการ ซ่อม บำรุง เปลี่ยนอะไหล่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย ในส่วนของระบบโครงข่ายสถานีชาร์จแบบสลับแบตเตอรี่จากตู้คีออส 2 จุด แต่ละจุดจะมีแบตเตอรี่เซลล์ 15 ลูก อยู่ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ในระยะเริ่มแรกของโครงการ

“ที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรีตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะตลอดมา พยายามผลักดันให้เกิดการลดการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันในมหาวิทยาลัย โดยมีการให้บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยจำนวน 180 คัน ซึ่งได้รับความนิยมจากนักศึกษา ติดตั้งจุดชาร์จไฟ EV สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 จุด และจากจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น จะมีการขยายจาก 2 จุด เป็น 5 จุดด้วย”