สวทช.-สถานทูตญี่ปุ่น คัด 28 ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ ร่วมโครงการ JENESYS 2017

“ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล” รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย ได้ให้ความร่วมมือแก่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในการดำเนินการคัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการ JENESYS (Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths) หรือโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศอาเซียน มาแล้วหลายรุ่น

โดยในปีนี้ได้คัดเลือกเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 28 คนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2017 ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 7 พ.ย. 2560 ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด

“เยาวชนดังกล่าวถือเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ที่จะได้เดินทางไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นด้วยการพักอาศัยกับชาวญี่ปุ่นแบบโฮมสเตย์ พร้อมทั้งได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของไทยกับชาวญี่ปุ่นและกลุ่มอาเซียนด้วย นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับเยาวชนที่หาไม่ได้จากการเยือนประเทศญี่ปุ่นโดยทั่วไป”

“ชิโร่ เทราชิมา” เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ JENESYS ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ประสงค์จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน และกลุ่มโอเชียเนีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นในภาพกว้างขึ้น

สำหรับโครงการ JENESYS 2017 ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้องๆ เยาวชนจะได้ทัศนศึกษาเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ใช่แค่พาไปเที่ยวชมเท่านั้น แต่จะสอดแทรกและกระตุ้นให้เยาวชนได้ว่าคิดว่าทำไมญี่ปุ่นถึงคิดเทคโนโลยีนั้นขึ้นมา

“ยกตัวอย่างการนั่งรถไฟชินคันเซ็น (Shinkansen) หรือรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ที่แม้จะมีขบวนวิ่งต่อวันมากถึง 300 เที่ยว แต่ยังสามารถรักษาความตรงต่อเวลาได้ตามกำหนด อย่างมากอาจเลท 2-3 วินาทีเท่านั้น ซึ่งการเลทถึง 50 วินาทีถือเป็นเรื่องใหญ่ของชินคันเซ็นมาก จึงอยากให้น้องๆ คิดว่าทำไมและอย่างไรรถไฟถึงตรงเวลาได้ขนาดนี้”

“อีกเรื่องหนึ่งคือ เวลานั่งบนรถไฟขบวนจะไม่สั่น น้องๆ อาจทดลองวางแก้วน้ำบนรถไฟ และคิดตามไปด้วยว่าด้วยความเร็วของรถไฟขนาดนี้แต่ทำไมน้ำในแก้วจึงไม่หก กล่าวอีกแง่คือ นอกจากเด็กๆ จะได้รับความสนุกสนานแล้ว ให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังว่าทำไมจึงเกิดการสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมา แล้ว ริเริ่มเรียนรู้ด้วยตนเองในแง่มุมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ทั้งนั้น ระหว่างที่น้องๆ ร่วมกิจกรรม และภายหลังกลับมาประเทศไทยแล้ว สามารถนำประสบการณ์ความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อเพื่อนๆ ในโรงเรียนและคนรอบข้าง รวมทั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปได้ด้วย