CIMBT ชี้บาทอ่อนถึงสิ้นธันวาคม-ปีหน้าเผาจริง

ค่าเงินบาทวันนี้ (23 มิ.ย.66)

ซีไอเอ็มบี ไทย มองสิ้นปีนี้เงินบาทยังอ่อนค่าที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ปีหน้าพลิกกลับมาแข็งค่า 34.50 บาท พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ “เผาหลอก” คงประมาณการโตได้ 3.2% หวั่นปีหน้า “เผาจริง” เหตุยังมีสารพัดปัจจัยเสี่ยง ส่อกระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งภาค “ส่งออก-ท่องเที่ยว”

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทหลังจากนี้จนถึงกลางปี 2566 ยังคงอ่อนค่าและเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นลง

เนื่องจากตลาดกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยมองว่าในเดือน ธ.ค.นี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% และในรอบเดือน ก.พ.และ มี.ค.จะขึ้นระดับ 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเฟดจะไปอยู่ที่ 5.25% ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566

ทั้งนี้ เดิมตลาดคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่ระดับ 4.25% จึงเป็นแรงกดดันกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) จนกว่าเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจนในการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย โดยกรอบค่าเงินบาทในสิ้นปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2566 คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้

จากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ 20 ล้านคน ส่งผลให้มีรายได้กลับมาสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้ และจากคาดการณ์เฟดชะลอดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยหนุนพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้น โดยคาดการณ์เงินบาท สิ้นปี 2566 เงินบาทอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์

“ตั้งแต่วันนี้จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า เงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าและแกว่งผันผวนตามตลาดการเงินโลก ตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ลดลง รวมถึงการคาดการณ์การปรับดอกเบี้ยของเฟด และหลังจากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะเริ่มเห็นเงินบาทพลิกแข็งค่าตามรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดร.อมรเทพกล่าวว่า เศรษฐกิจปีนี้จะยังเป็นเผาหลอก แต่ห่วงว่าปีหน้าจะเผาจริง เนื่องจากเต็มไปด้วยหลายปัจจัยเสี่ยง โดยธนาคารยังคงประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 3.2% และปี 2566 ขยายตัว 3.4%

โดยมองว่าในไตรมาส 4/2565 จะขยายตัวได้ระดับ 3.7% ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่ปรับประมาณการเติบโตปี 2566 เติบโตสูงกว่าปีนี้ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ามีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง

“ปี 2566 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวติดลบ 1% จากปีนี้ขยายตัว 7.1% จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐและยุโรป แต่มองว่าจะไม่ได้เกิดเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ คนจะมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อไปยังการส่งออกทางอ้อมไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น รวมถึงมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลงด้วย”

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ยังคงเป็นปัจจัยที่มีโอกาสและมีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์เดียวที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และหากไม่เป็นไปตามคาด จะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ โดยในปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวจะมา 10 ล้านคน และปี 2566 จะเข้ามา 20 ล้านคน

โดยในช่วงครึ่งแรกปีหน้าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนครึ่งปีหลัง มีความหวังในส่วนของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี นโยบายการเปิดประเทศของจีนยังเป็นความเสี่ยง หากมีการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ดร.อมรเทพกล่าวด้วยว่า 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ 1.วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูง ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน 2.วิกฤตหนี้ตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากมีหลายประเทศเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะเงินทุนสำรองที่ปรับลดลงจากราคาน้ำมันที่สูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศอาจเผชิญปัญหาสภาพคล่องได้

และ 3.โควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ที่มีผลต่อนโยบายการการเปิด-ปิดประเทศ และส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยได้