ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขานรับสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่เฟด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขานรับสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่เฟด ที่ยังคงมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ  ขณะที่นักลงทุนยังจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่จะประกาศในวันที่ 12 ม.ค.นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 33.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/1) ที่ระดับ 33.53/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก โดยดัชนีดอลลาร์สหัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/1) ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าด้วยความเป็นอิสระของธนาคารกลางในการเสวนาที่จะจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม

โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการพูดถึงแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดหรือการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด ทั้งนี้นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา และนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ให้ความเห็นถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าเฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับร้อยละ 5.00-5.25 และคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลานานเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายและขจัดอุปสงค์ส่วนเกินออกจากระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่จะประกาศในวันพรุ่งนี้ (12/1) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดต่อไป โดยคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้นร้อยละ 6.6 ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับร้อยละ 7.1 ในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้นร้อยละ 5.7 ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับร้อยละ 6.0 ในเดือนพฤศจิกายน

ธนาคารโลกออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อวันอังคาร (10/12) โดยระบุว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (EMDE) มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างหนักในปี 2565 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นทั่วโลกและผลกระทบจากกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน นอกจากนี้ถ้าไม่นับรวมประเทศจีน XCC กลุ่ม EMDE มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวอย่างรุนแรงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในยูโรโซนและสหรัฐ

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปีนี้ลดลงร้อยละ 0.7 จากคาดการณ์เดิมในเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.7 ในปี 2567 ลดลงร้อยละ 0.2 จากคาดการณ์เดิมในดือนมิถุนายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.28-33.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (11/1) ที่ระดับ 1.0725-1.0756 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวันอังคาร (10/1) ที่ระดับ 1.0740/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ยังคงถูกกดดันจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0756-1.0756 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0743/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่้อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/1) ที่ระดับ 132.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันอังคาร (10/1) ที่ระดับ 131.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 132 และนักลงทุนยังคงจับตาดูรายงานเงินเฟ้อสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.13-132.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.37/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกประจำเดือนพฤศจิกายนของออสเตรเลีย (11/1), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (BIA) (11/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.00/-9.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -15.40/-13.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ