กอบศักดิ์ ชงรัฐบาลใหม่กระตุ้นตลาดทุน เร่งประคองเศรษฐกิจดันจีดีพีโต 3%

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพจากศูนย์ภาพมติชน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ชงรัฐบาลใหม่ กระตุ้นตลาดทุน เตรียมเสนอหนุน “กองทุนลดหย่อนภาษีกองใหม่” ขอให้เดินหน้า “ประคอง-กระตุ้น” เศรษฐกิจ ช่วยจีดีพีเติบโต 3% หวังนักท่องเที่ยวแตะ 3 ล้านคนต่อเดือน ดันเป้าสิ้นปีแตะ 29-30 ล้านราย จับตานโยบาย-แบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรี เชื่อการเมืองนิ่งดึงดูดฟันด์โฟลว์

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงาน “Thailand Focus 2023” ว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงไตรมาส 2/2566 ที่ออกมาเติบโตแค่ 1.8% ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กดดันภาคส่งออกไทย ติดลบ 5% และเกี่ยวพันไปสู่ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 โจทย์หลักของรัฐบาลใหม่คือ การประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านช่วงคับขันที่สุดช่วงหนึ่งของเศรษฐกิจโลกไปให้ได้ เพื่อให้จีดีพีไทยสามารถจะเติบโตได้ในระดับ 3% และในช่วงต้นปี 2567 ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัญหาเรื่องงบประมาณที่ล่าช้าออกไป 3 เดือน รวมถึงในปีหน้าเมื่อโอกาสต่าง ๆ เกิดขึ้น ไทยจะต้องหยิบฉวยโอกาสไว้ให้ได้ด้วย

โดยเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะมีภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักช่วยผลักดันเศรษฐกิจทดแทนภาคส่งออก ซึ่งในไตรมาส 4/2566 จะเป็นช่วงพีกซีซั่น ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 2.5 ล้านรายต่อเดือน หากปลายปีเข้ามาได้เพิ่มเป็น 3 ล้านรายต่อเดือน เชื่อว่าจะทำให้ทั้งปีเป้าหมายนักท่องเที่ยวจะแตะระดับ 29-30 ล้านรายได้

“ช่วงนี้ภาคท่องเที่ยวคือหัวใจ ถ้ารัฐบาลใหม่อยากจะช่วยภาคท่องเที่ยว ขอให้ทำขั้นตอนวีซ่าให้ง่าย เพื่อสนับสนุนคนจีนเดินทางมาไทยมากขึ้น รวมถึงเพิ่มไฟลต์สำหรับคนญี่ปุ่นด้วย และโปรโมตนักท่องเที่ยวตลาดใหม่ ๆ เข้ามาไทยเพิ่มเติม เช่น อินเดีย, อิสราเอล, ตะวันออกกลาง เป็นต้น ดังนั้นหากเราสามารถพลิกฟื้นภาคท่องเที่ยวให้เข้มแข็งในช่วง 3 เดือนสุดท้าย เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะประคองตัวไปได้ดียิ่งกว่านี้”

รวมถึงต้องดำเนินการอย่างจริงจังสำหรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ผ่านการสนับสนุนให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย แม้ว่าเม็ดเงินจะยังไม่เข้ามาทันที แต่จะเป็นส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นหรือกำลังใจที่ดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยพลิกฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยรับรู้มาว่านักธุรกิจจีนกำลังใช้ไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 เห็นได้จากแรงซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมที่สูง

ในส่วนของภาพรวมตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง ประเมินว่าหากปัญหาทางการเมืองนิ่งลง เชื่อว่าทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่เคยมีความกังวลใจจะกลับมาได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจจะกำลังพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วยว่า จะสร้างอนาคตอย่างแท้จริงได้แค่ไหน เพราะการลงทุนของต่างชาติจะเป็นการลงทุนระยะยาว หรือถือยาว 5-10 ปี ฉะนั้นจะต้องมั่นใจในพื้นฐานและอนาคต ดังนั้นหากนโยบายต่าง ๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ได้ก็จะดี

“เรื่องของการทำนโยบายของพรรคร่วมเป็นหัวใจสำคัญ เพราะแต่ละพรรคจะทำนโยบายของตัวเอง เพื่อไปสู่การเลือกตั้งครั้งถัดไป ฉะนั้นนโยบายก็จะสอดประสานแต่ไม่สนิท ซึ่งจะมีช่องว่างอยู่ระหว่างนั้น ตอนนี้กำลังรอดูการแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง หวังว่ากระทรวงสำคัญ ๆ จะอยู่ในมือของพรรคเดียว”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า เบื้องต้นเฟทโก้จะมีการเข้าไปหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อส่งเสริมตลาดทุนให้เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป โดยกำลังร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกกองทุนลดหย่อนภาษีกองใหม่ หลังจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) จะหมดอายุลงในปีนี้ พร้อมกันนี้อยากให้มีการปรับปรุงกองทุน SSF ให้มีความน่าสนใจมากกว่านี้ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้เป็นที่สนใจแก่นักลงทุนมากนัก

ขณะเดียวกันเดินหน้าแก้กฎเกณฑ์และกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ Digital Government เพื่อทำให้การอนุมัติ การอนุญาต หรือการติดต่อหน่วยงานภาครัฐ เป็นไปด้วยความสะดวก รวมถึงปรับกฎเกณฑ์เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยพัฒนาไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้รัดกุม จากปัญหาที่พบในตลาดทุนทั้งกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK), บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และการหลอกลวงการลงทุนต่าง ๆ

นอกจากนี้มอง 4 หัวใจสำคัญที่ไทยควรขับเคลื่อนในอีก 4 ปีข้างหน้า คือ 1.เทคโนโลยี โดยจะทำอย่างไรที่จะสามารถก้าวขึ้นไปในเรื่องของการพัฒนาและวิจัย (R&D) เทคโนโลยี เป็นของตัวเอง แนะนำรัฐบาลหากไทยไม่มีนักวิจัยเป็นของตนเองที่เพียงพอก็อยากให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการทำ R&D เพื่อตอบโจทย์ของภูมิภาคเอเชีย ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพของโลกมาใช้ฐานอย่างแท้จริง หรือเปิดโอกาสให้ Headquarter มาตั้งในประเทศไทย โดยมองว่าการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนของเอเชียทั้งหมดจะเป็นจุดที่สำคัญ ที่สามารถทำได้ทันทีและใช้ต้นทุนน้อยมาก

2.ต่อยอดธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ (New S-Curve) เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV), ศูนย์กลางสุขภาพ (Medical hub), ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) รวมไปถึงเรื่องของดิจิทัลต่าง ๆ เช่น Soft Power, Animation ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นผู้เล่นต้น ๆ ของโลก โดยไทยสามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นเดียวกัน ทำให้สร้างรายได้ในระหว่างการสร้างฐานใหม่

3.การส่งเสริมบริษัทไทยไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนถือเป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุนของโลก หากส่งเสริมอย่างเป็นระบบก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า

4.สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการ EEC ซึ่งต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โครงการท่าเรือฝั่งตะวันตก และโครงการที่จะเชื่อมกับโครงการ Belt and Road รวมถึงการแก้ไขเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น