ไล่บี้ตรวจสอบ “ประกันเถื่อน” ตะลึง ! ลูกเจ้าของโรงพยาบาลดังมีเอี่ยว

ประกันภัยเถื่อน
อัพเดตล่าสุด 14 กันยายน 2566 เวลา 11.59 น.

หลังจากประชาชนจำนวนมากซื้อประกันภัยสัตว์เลี้ยง แต่ไม่สามารถเบิกค่าเคลมสินไหมได้ ร้อนถึง สมาคมประกันวินาศภัยไทย ต้องออกมาเตือนให้ระมัดระวัง พร้อมตรวจสอบพบว่า เป็นบริษัทประกันภัยเถื่อนจากต่างชาติ

รวมถึงยังพบว่ามีการลักลอบขายประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวในประเทศไทยด้วย ล่าสุด มีความคืบหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า ขบวนการนี้มีคนไทยเกี่ยวข้องด้วย

เปิดเครือข่ายขายประกันเถื่อน

“ประสิทธิ์ คำเกิด” ประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบแกะรอยการโกงในครั้งนี้ พบว่า เมื่อปี 2564 ประมาณเดือน มิ.ย. มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ (แทนชื่อว่า IS) เสนอตัวทำการตลาดขายประกันภัยสัตว์เลี้ยงให้กับบริษัทประกันภัยจากประเทศอังกฤษ (แทนชื่อว่า IU) โดยวางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (แทนชื่อว่า IP)

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 บริษัท IS มีการทำสัญญานายหน้าร่วม โดยอ้างว่าบริษัท IU มีใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยและประกันภัยต่ออยู่ที่อังกฤษ จนถึงเดือน ก.ค. 2565 เริ่มเสนอขายประกันภัยสัตว์เลี้ยงบนหน้าเว็บไซต์ IP

“เมื่อลูกค้าคนไทยชำระเงินค่าเบี้ยประกันไปแล้ว ทาง IP จะนำส่งค่าเบี้ยให้ IU โดย IU จะจ่ายค่าคอมมิชชั่นกลับมาให้กับ IP ผ่าน IS ตรวจพบครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2566 กล่าวคือ IS กับ IP คือกลุ่มคนเดียวกัน”

โดยพบว่าบริษัทดังกล่าวมีการรับประกันไปมากกว่า 4,000 กรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันราว 10-20 ล้านบาท ซึ่งกรมธรรม์ฉบับสุดท้ายจะหมดอายุความคุ้มครอง วันที่ 29 มิ.ย. 2567

“จากการรับประกันที่มีจำนวนมากนั้น ประมาณเดือน พ.ค. 2566 เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีคือ ทาง IU ขอให้ IP เอาโปรดักต์ตัวนี้ออกจากหน้าเว็บไซต์ และถูกร้องขอให้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขบางอย่าง และประมาณวันที่ 27 มิ.ย. 2566 เริ่มเกิดปัญหา ลูกค้าเคลมไม่ได้”

ดอดเจรจาลูกค้าขอคืนเบี้ย

“กัลยา จุกหอม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารอาวุโส สายงานวิชาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้เสียหาย พบว่าเป็นการทำประกันที่ง่ายมาก ไม่มีการขอข้อมูลตรวจสอบความเป็นตัวตนของสัตว์เลย นอกจากนั้นหลาย ๆ คลินิกสัตว์มีการแนะนำให้ลูกค้าซื้อประกันสัตว์เลี้ยงกับบริษัทนี้ด้วย เนื่องจากเห็นว่า ช่วงแรกเคลมง่ายจ่ายหมด จนมาระยะหลังค้างชำระค่าสินไหมเป็นจำนวนมาก ตอนนี้มีประมาณ 180 ราย ที่ยื่นเคลมแต่ยังไม่ได้รับเงิน

“ลูกค้ายังมีความหวังที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทน และส่วนหนึ่งมองว่าค่าสินไหมไม่สูง จึงยังไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี โดยล่าสุดทาง IS ที่สิงคโปร์ มีการเจรจากับผู้เสียหายขอคืนเบี้ย 40% ให้ลูกค้า ซึ่งในทางปฏิบัติ ประกันในไทยจะไม่มีรูปแบบนี้ แต่จะมีถ้าจะยกเลิกต้องคืนเบี้ยตามส่วนที่มีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่”

ตาราง เครือข่ายประกันภัยเถื่อน

แอบขายประกันสุขภาพต่างชาติ

จากการสืบค้นยังพบว่า บริษัท IU มีการรับประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวอยู่ในประเทศไทยด้วย โดยขายบนเว็บไซต์มานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันก็ยังขายอยู่ เนื่องจากไม่ผิดกฎหมายไทย ซึ่งมีบุคคลเสมือนเป็นนายหน้า ทำหน้าที่รับประกันและต่ออายุ มีออฟฟิศตั้งอยู่ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีคนไทยที่มีไลเซนส์นายหน้าจริง

แต่ปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว และให้ข้อมูลว่ามีชาวรัสเซียเป็นผู้จัดการที่นี่ และจะมีบริษัทที่ทำหน้าที่ประสานงาน-แจ้งเคลม ออฟฟิศอยู่แถวรามอินทรา เชื่อมโยงกับบริษัทที่ซอยศูนย์วิจัย 4 ที่เป็นบริษัทรับทำเคลมและจ่ายสินไหม

“ตามกฎหมายไทยกำหนดให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาพำนักระยะยาวในไทย จะยื่นขอวีซ่าต้องมีประกันสุขภาพ 2 แบบคือ 1.Visa Non O-A (ไม่เกิน 1 ปี) วงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งจะซื้อผ่านบริษัทในไทยมีอยู่ 12 บริษัท หรือจากต่างประเทศก็ได้

และเมื่อจะขอต่อวีซ่าต้องติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และประสานกรมการกงสุลเพื่อตรวจสอบข้อมูลประกันสุขภาพ และ 2.Visa Non O-X พำนักระยะยาวตลอดที่อยู่ในไทย ต้องมีวงเงิน OPD ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และ IPD ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซื้อได้เฉพาะบริษัทในไทย ซึ่งมีอยู่ 7 ราย”

ตะลึงลูกเจ้าของโรงพยาบาลดังมีเอี่ยว

ทั้งนี้ จากที่สมาคมได้ตรวจสอบข้อมูล ตามที่กล่าวอ้างว่า จดทะเบียนเป็นนายหน้าประกันภัยและประกันภัยต่ออยู่ที่อังกฤษ ก็พบว่าไม่ปรากฏรายชื่อนี้อยู่ในลิสต์ของ คปภ. อังกฤษ (FCA) และสมาคมประกันภัยอังกฤษ (ABI) โดยพบเพียงหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” มีชาวอังกฤษเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 1 ราย และในโครงข่ายพันธมิตร มีคนไทยร่วมถือหุ้นด้วย 2-3 ราย ซึ่งหนึ่งรายในนั้น ถือหุ้นใน IS ที่สิงคโปร์ด้วย

“ประสิทธิ์” กล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า มีนามสกุลดัง เป็นลูกเจ้าของโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทย และอีกรายเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทให้บริการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดที่ถูกต้องตามกฎหมายในไทย อ้างอิงจากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่พบว่าได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัยแต่อย่างใด

โดยบริษัทตั้งอยู่ในซอยศูนย์วิจัย 4 กทม. จะรับทำหน้าที่ดำเนินการจ่ายเคลมและรับชำระเบี้ยประกันภัยในกรณีเมื่อลูกค้าจ่ายเป็นเงินสดและเงินโอน แต่หากลูกค้าจ่ายค่าเบี้ยผ่านบัตรเครดิต เงินจะเข้าบัญชีโดยตรงในบริษัท IU ที่อังกฤษ

DSI โยน คปภ. ตรวจสอบเอาผิด

เบื้องต้นทาง ตม. และกงสุล ได้รับทราบแล้วว่า บริษัท IU ไม่มีตัวตน และได้มีการแจ้งเตือนเอกสารของบริษัท IU ว่าไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการยื่นขอวีซ่า

โดยจากข้อมูลล่าสุดที่ชาวต่างชาติยื่นขอวีซ่าประมาณกว่า 30,000 ราย แต่ในระบบประกันของสมาคม มีแค่กว่า 8,000 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่แน่ใจว่า ซื้อประกันที่ไหน หรือใช้สวัสดิการของรัฐที่มีอยู่แทนการซื้อประกันได้

“ประสิทธิ์” กล่าวว่า หลังจากที่มีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งจากประกันภัยสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจเข้าข่ายกรณีฉ้อโกง สมาคมจึงได้ทำหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แต่เบื้องต้นดีเอสไอได้ประสานส่งเรื่องไปยังสำนักงาน คปภ. เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแล

“หลังจากนี้การดำเนินการตามกฎหมายจะอยู่ที่ คปภ. จะเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับความมั่นใจในการรวบรวมพยานหลักฐานที่ชัดเจน”