เศรษฐา มอบนโยบายจัดทำงบประมาณปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้าน

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา เป็นประธานมอบนโยบายจัดทำงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มจีดีพีร้อยละ 5 ภายในปี 4 ปี กระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเลต 5.6 แสนล้านบาทมาแน่เดือนกุมภาฯ 67 ขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันเร็วที่สุด-600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 ยกร่างรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจประชาชน

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทว่า การได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลจากโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้านและฟื้นอย่างไม่เท่าเทียม เป็น K-shape recovery ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชนหลายระดับ

นายเศรษฐากล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาซัพพลายเชนที่กระทบไปถึงประเทศไทย โครงการอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ไม่กี่หมวดสินค้า ถูกจำกัดด้วยจำนวนตลาดที่ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกได้ อีกไม่นานเราก็จะกับเอลนิโญทำให้เกิดภัยแล้งยาว วิธีทำการเกษตรของเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุข ล้วนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจมีปัญหามาจนถึงปัจจุบันนี้ รัฐบาลนี้จะ Take on actions อย่างจริงจัง ร่วมมือกับข้าราชการและเอกชนเพื่อรับมือกับความท้าทาย

ดิจิทัลวอลเลตใช้ได้แน่นอนกุมภาฯ 67

นายเศรษฐากล่าวว่า ในระยะสั้นรัฐบาลให้ความสำคัญ 3 ประการกับเรื่องเร่งด่วน การฟื้นฟูรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายของประชาชนและเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การฟื้นฟูรายได้ เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 จะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยกรอบงบประมาณ 560,000 ล้านบาท จะแตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงพื้นที่ ไม่ถึงชุมชน ในครั้งนี้ เงิน 560,000 ล้านบาทที่จะเข้าไปกระตุ้นดีมานด์และขับเคลื่อนซัพพลายให้โตขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมาคือภาษีที่จะกลับคืนสู่ภาครัฐ การจำกัดการใช้จ่ายในชุมชนจะทำให้เงินหมุนเข้าไปในระดับรากหญ้าก่อนเสมอ ระยเวลา 6 เดือน เพื่อกำหนดให้เงินทุนต้องหมุน มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่เช่นนั้นจะมีการไปดองไว้ทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ (multiplier effect)

“ไม่ต้องห่วงครับ ใช้ได้แน่นอนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้” นายเศรษฐากล่าว

เศรษฐา ทวีสิน

นายเศรษฐากล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลจะฟื้นฟูจากภายในและนอกประเทศ ที่ ครม.ทำทันที คือ การยกเว้นวีซ่าจีนและคาซัคสถาน เป็นมาตรการเบื้องต้น ซึ่งจะดำเนินมาตรการกับประเทศอื่น ๆ อีก รวมถึงรัฐบาลวางแผนมาตรการอื่น ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายอำนวยความสะดวก หรือ มาตรการอื่น ๆ ที่หมาะสม ในระยะยาวต้องพัฒนาด้านอื่น

เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือการต่างประเทศที่จะต้องมีการจัดโรดโชว์ และด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตนมั่นใจว่า เราจะขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันได้เร็วที่สุด เป็นสเต็บแรก รวมทั้งลดราคาแก๊สหุงต้มและน้ำมันเบนซิน

ยกร่างรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจประชาชน

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเดินหน้าตั้งคณะกรรมการเพื่อเริ่มดำเนินการแล้ว โดยจะทำประชามติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน

“มาตรการระยะสั้นที่ผมกล่าวไปทั้งหมด จำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ต่อชีวิตให้กับประชาชนและภาคธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่เพื่อให้มีกำลังไปสร้างพลังทางเศรษฐกิจต่อไป สำหรับรัฐบาลเองต้องวางแผนหาเงินกลับมาคืนในส่วนที่ใช้ไปในส่วนนี้ด้วย และรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า ในระยะยาว รัฐบาลตั้งใจจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ การสร้างรายได้ การขยายโอกาสและดูแลคุณภาพชีวิต และความมั่นคง มิติการสร้างรายได้ มีการเพิ่มรายได้สุทธิ (เน้นเสียง) ในภาคเกษตร การเปิดการค้าระหว่างประเทศ การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจ การลุงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุน

เป้าหมายของรัฐบาลนี้ คือ ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ไม่ให้สินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ นอกจากภาคเกษตรแล้ว ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม จะได้รับผลต่อเนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเลต

“รัฐบาลนี้จะให้การสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ และผลักดันให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตได้ ซึ่งจะมีการ matching fund ภาครัฐร่วมมือกับกองทุนระดับโลก ค้นหาและคัดเลือกสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ โดยภาครัฐจะร่วมลงทุนด้วย เพื่อให้มีแหล่งเงินทุนและเป็นยูนิคอร์นต่อไปในอนาคต”

บอกชาวโลก “ประเทศไทยเปิดแล้ว”

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ถนน น้ำ ราง อากาศ จะต้องมีการวางแผนลงทุนอย่างเป็นระบบและต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ เช่น สนามบิน หน้าด่านของการท่องเที่ยว ต้องมีการวางแผนขยายรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง รางรถไฟต้องสามารถส่งสินค้าจากเมืองต่าง ๆ ไปยังตลาด และจะต้องเชื่อมต่อกับรางรถไฟของโลกได้ เช่น ขนส่งสินค้าไปประเทศจีน รวมทั้งขยายระบบทั้งในและนอกเมืองเพื่อรองรับการเดินทาง การส่งสินค้าในราคาที่เป็นธรรม เช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถนน เรือและระบบอื่น ๆ ต้องมีแผนกระจายไปให้ทั่วถึง

“จากที่ผมรับฟังความคิดเห็นภาคธุรกิจ ทุกกลุ่ม ทุกท่าน ล้วนสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าเปิดตลาดการค้าให้มากขึ้น เพื่อให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปยังทั่วโลกได้ จึงเป็นที่มาของการขยายเอฟทีเอ และเปิดตลาดใหม่ ๆ สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นไปทางยุโรปและแถบอาหรับ อาฟริกามากขึ้น รวมถึงขยายหมวดหมู่ของสินค้าให้ครอบคลุมภาคธุรกิจของไทยด้วย” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า การเดินหน้าเจรจาทั้งหมดจะนำมาซึ่งการลงทุนในเรียลเซ็กเตอร์ให้มากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

“เรื่องนี้ภาคธุรกิจที่มาคุยกับผม เขาก็บอกว่า ถ้าเราขยายได้มาก เขาก็สนใจที่จะลงมาลงทุนมากขึ้น เพราะมันเสริมความสามารถในการแข่งขันของเขาได้ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการเร่งเจรจาเอฟทีเอที่ค้างอยู่กับสหภาพยุโรป (EU) และเร่งเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลางและอาฟริกา”

เรื่องการต่างประเทศ เปลี่ยนการทูตเราให้มีความเป็น Proactive มากยิ่งขึ้น เราจะไม่รอคำเชื้อเชิญจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เราจะรุกออกไปพบ ไปคุย ไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบอกกับชาวโลกว่า Thailand is Open ประเทศไทยเปิดแล้ว

ค่าแรง 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นปี 2570

นายเศรษฐากล่าวว่า การลงทุนภาคเกษตร การทำให้เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานและการเดินหน้าเจรจากับต่างประเทศ ต้องใช้ทรัพยากร ทั้งคน ทั้งเงิน และเวลา แต่ทำแล้วสามารถเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะนำประเทศไทยเข้าสู่ ระบบเศรษฐกิจของโลก รักษาความเป็นกลางระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งจะกลายเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่บริษัทต่างชาติกำลังให้ความสนใจ

“การดำเนินการหลากหลายนโยบายจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้เป็น 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า งานที่ต้องส่งเสริมและลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะยาว ทั้งนักท่องเที่ยวในและนอกประเทศ ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้มากขึ้น วางแผนลงทุนสถานที่ท่องเที่ยว manmade ในหลายพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง เรามีนโยบายทำให้โลว์ซีซั่นหมดไปจากประเทศไทย เที่ยวได้ตลอดทั้งปี

รับไม่ได้ข้าราชการทำตัวนายประชาชน

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องความความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ต้องมีการบริหารจัดการกำลังพลและทรัพยากรให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น มีกำลังพลประจำการน้อยลง แต่มีคุณภาพและทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ ทำให้กองทัพเป็นสากล มีความเป็นมืออาชีพ ขณะเดียวกันก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในเวลาต่าง ๆ รวมถึงนำสินทรัพย์ของกองทัพมาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน

“รัฐบาลนี้จะจัดการยาเสพติดให้หมดสิ้น บำบัดและส่งคืนลูกหลานที่ติดยาเสพติดสู่ครอบครัว จัดการกับผู้มีอิทธิพล ป้องกันการแทรกแซงการบริหารราชการ เช่น ตั้งรางวัลให้ผู้บอกเบาะแส ปกป้องคุ้มครองพยาน” นายเศรษฐากล่าวและว่า

“การปฏิสัมพันธ์ระหว่างราษฎร ระหว่างราชการกับประชาชนจะต้องทำให้ไม่มีคนต่อคิวรอตั้งแต่เช้า ต้องมีแผนปรับปรุงการให้บริการ กำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายประชาชน เรียกรับสินบน ซึ่งผมรับไม่ได้” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า เป้าหมายของตนชัดเจน ด้านเศรษฐกิจ คือ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ตลอด 4 ปีนี้ และทำให้รายได้ขั้นต่ำถึง 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

“อย่าลืมว่ารัฐจะเก็บภาษีมาลงทุนต่อยอดให้ทุกคนได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนมีคุณภาพที่ดี เพราะฉะนั้นขอให้ทุกภาคส่วนดูแลประชาชนทุกภาคส่วนให้มีชีวิต มีสวัสดิการที่เหมาะสมให้เลี้ยงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรี และขอให้เปิดใจรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุง ทำงานเน้นผลลัพธ์ มีตัวชีวัดที่ชี้วัดให้ชัดเจน มากกว่าแค่การทำงานตามกระบวนการ และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลจะได้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ตนตั้งใจที่จะบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้และจะรักษาระเบียบวินัยและศักยภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

วางกรอบใช้จ่ายงบ 5 ข้อ

นายเศรษฐากล่าวว่า ในการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 ผมขอวางกรอบความสำคัญ 5 ข้อต่อไปนี้ ข้อแรก ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุก ๆ หน่วยงานพิจารณาดูว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ดำเนินการทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ

ข้อที่สอง ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกันหลาย ๆ โครงการในอดีตที่เคยทับซ้อนกัน ขออย่าให้เกิดภาพแบบนั้นอีกภายในรัฐบาลนี้

ข้อที่สาม ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีประสิทธิผล (Productivity) คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงานหรือโครงการ ขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย นโยบาย แผนงานใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ก็เริ่มดำเนินการได้เลย

ซึ่งโครงการเหล่านี้ ผมถือว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องใช้งบลงทุนสักบาท และขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และผมขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขา ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์

ข้อที่สี่ โครงการ แผนงาน ต่าง ๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย (Target) ที่ก่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ผมไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำเสียเปล่า ๆ ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน

ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการ ที่ไม่มีความชัดเจนไปเสีย เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป

ข้อที่ห้า ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน (Source of funding) ทั้งเงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณ หลาย ๆ หน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประมาณประเทศ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่น ๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ

ขีดเส้นขอเงิน 6 ตุลาคม 2566

นายเศรษฐากล่าวว่า ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นตัวแทนจากภาครัฐทั้งหมด เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานะ ความมั่นคง ของการเงินการคลังในระยะยาว ถึงแม้งบประมาณปี 2567 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ฉะนั้นในการทำงบประมาณปีนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาประเด็นทั้งกรอบความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่

1.ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน 2.ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน 3.ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง 4.ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 5.ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง และขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้

“สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาฟังในวันนี้ ขอให้ทุกท่านวางแผนงบประมาณให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน” นายเศรษฐาทิ้งท้าย