KBANK แก้ปมคนรวยประสบปัญหา “ส่งต่อความมั่งคั่ง”

KBank
ภาพจาก : freepik

“กสิกรไทย ไพรเวต แบงกิ้ง” รุกแก้ปัญหาคนรวยประสบปัญหา “ส่งต่อความมั่งคั่ง” จากรุ่นสู่รุ่น หลังพบ “แซนด์วิชเจเนอเรชั่น” รับบทหนัก เหตุเป็น “คนรุ่นตรงกลาง” ชี้มี 4 เครื่องมือหลักช่วยแก้ปัญหาได้ พร้อมเปิดผลสำรวจเทรนด์ทั่วโลกส่งต่อความมั่งคั่งพุ่งส่อแตะ 2,000 ล้านล้านบาทในอีกกว่า 20 ปีข้างหน้า

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งต่อความมั่งคั่ง (The Great Wealth Transfer) ให้กับทายาท หรือ next generation มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน

โดยจากการศึกษาพบว่าภายในปี 2568-2585 ทั่วโลกจะมีการส่งต่อความมั่งคั่ง คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 59 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 2,000 ล้านล้านบาท เฉพาะกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ พบว่าจะมีการส่งต่อความมั่งคั่งสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 88 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำหรับคนไทยมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2579 ประชากรผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% ทำให้การส่งต่อความมั่งคั่งค่อนข้างยาก เนื่องจากคนรุ่นเก่ายังคงบริหารงานอยู่ ทำให้คนรุ่นตรงกลาง (sandwich generation) ต้องรับบทหนักในการเป็นตัวกลางระหว่างคนรุ่นก่อนและทายาทรุ่นต่อไป

“ตอนนี้มีหลายครอบครัวที่มีปัญหา เกิดปัญหา sandwich generation เพราะไม่ใช่แค่มีรุ่นพ่อและรุ่นลูก แต่มี 3 Gen เป็นอย่างน้อย คือ รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และรุ่นลูก ทำให้คนรุ่นพ่อต้องรับภาระประสานรุ่นปู่และรุ่นลูกให้ความมั่งคั่งยังอยู่ได้ เพราะรุ่นปู่ยังคงบริหารงานแบบเดิม ๆ แต่รุ่นหลานโตมากับเทคโนโลยี ซึ่งหลายครอบครัวมีปัญหาในการส่งต่อความมั่งคั่ง”

ขณะเดียวกัน มุมมองในการบริหารความมั่งคั่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลัก คือ 1.มุมมองทางด้านการลงทุน ซึ่งคนรุ่นเก่าจะเน้นลงทุนในเงินฝาก (saving) เพราะมองว่ามีความปลอดภัย และมองว่าการลงทุนเป็นความเสี่ยง ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นใหม่ที่จะมองหาการลงทุน ทำให้ปัจจุบันในหลายครอบครัวมีการกระจายพอร์ตการลงทุนมากขึ้น

2.มุมมองเรื่องสินทรัพย์ที่ดิน โดยคนรุ่นเก่านิยมถือครองที่ดินจำนวนมาก ทำให้มีที่ดินสัดส่วนประมาณ 65% ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีเพียง 35% ที่ใช้ประโยชน์ ซึ่งคนรุ่นใหม่มองว่าเป็นสินทรัพย์ไม่มีสภาพคล่อง ประกอบกับมีเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดก กับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องบริหารจัดการ และ 3.มุมมองทางด้านการจัดการครอบครัว ซึ่งครอบครัวคนไทยประมาณ 60% ไม่มีการจัดการในครอบครัว ไม่มีการตรวจสอบ

ดังนั้น จะเห็นว่าเครื่องมือหลักในการบริหารความมั่งคั่งและการส่งต่อของครอบครัวไทย จะมีอยู่ 3-4 เครื่องมือหลัก คือ 1.การจัดตั้งกองทรัสต์ ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงจากประเด็นภาษี 2.ผลิตภัณฑ์ประกันที่มีความหลากหลายและถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน 3.การจัดตั้ง family office จะเห็นว่าเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งในสิงคโปร์มีเพิ่มสูงขึ้น 5 เท่า

ดยในส่วนของไทยมีประมาณ 30 ครอบครัว และเป็นของธนาคารมีครอบครัวให้ความสนใจจัดตั้งแล้ว 9 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้บริการอื่น และ 4.การทำ business consultant เป็นตัวช่วยความเป็นธุรกิจครอบครัว

“เราจะช่วยลูกค้าในการบริหารความมั่งคั่ง และส่งต่อทายาทแบบองค์รวม เพราะเราอย่าลืมว่านอกจากเรื่องของการสื่อสารภายในครอบครัวที่อาจจะกระทบต่อความมั่งคั่งแล้ว แต่ปัจจัยภายนอก เช่น ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายและภาษี รวมถึงการถูก disruption จากเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อธุรกิจความมั่งคั่งได้” นายพีระพัฒน์กล่าว