แบงก์ชาติขยับเกณฑ์อุ้มลูกหนี้ คุมดอกเบี้ยผิดนัด “น็อนแบงก์-P2P”

แบงก์ชาติ

ธปท.ขยายเกณฑ์ “คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้-การตัดชำระหนี้” ครอบคลุมธุรกิจ “P2P-น็อนแบงก์บัตรเครดิต” ตีกรอบห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดเกิน 3% ต่อปี “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้แบงก์ชาติต้องการดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่ม ลดภาระหนี้เกินความจำเป็น หนุนธนาคารปรับตัวรับ “Responsible Lending” โจทย์ใหญ่ปี’67 ด้าน “อิออน” ยันไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้” เพื่อให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่สร้างภาระเกินสมควรจนทำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้

รวมถึงให้สามารถลดภาระหนี้เงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้ โดยการบังคับใช้หลักเกณฑ์ จะครอบคลุมผู้ให้บริการที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

ทั้งนี้ ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ได้แก่ 1.ขยายขอบเขตประกาศให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer to Peer Lending Platform) 2.ยกเว้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้กับธุรกรรมซื้อคืน (Repo) ในตลาดเงิน (Money Market) เพิ่มเติม

และ 3.กำหนดแนวทางการตัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว (Bullet Loan) ให้สะท้อนต้นทุนที่เทียบได้กับการกู้ยืม

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 2567 ธปท.จะมีกรอบดำเนินการเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการขยายขอบเขตเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และการตัดชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งหมด

ซึ่งสาระสำคัญ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่ขยายให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อประเภทอื่น ๆ ที่ยังไม่อยู่ภายใต้เกณฑ์ ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P) จากก่อนหน้านี้ได้ขยายให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ไปแล้ว

“แม้ว่าจะมีการขยายขอบเขตเกณฑ์ ‘การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้’ แต่ ธปท.มีการยกเว้นในบางธุรกรรม โดยมีการยกเว้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้กับธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาว่าจะขายคืนหรือซื้อคืน (Repo) ในตลาดเงินเพิ่มเติม จากเดิมที่ปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม ยกเว้นลูกหนี้สถาบันการเงินหรือที่ทำธุรกิจคล้ายสถาบันการเงิน”

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระปัจจุบัน จะคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยปกติและบวกไม่เกิน 3% ต่อปี กรณีสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเป็นอัตราลอยตัว (Floating Rate) ให้ใช้อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ผิดนัดชำระตามจริงในแต่ละวันในการอ้างอิง

และ 2.แนวทางการตัดชำระหนี้ ซึ่งจากเกณฑ์เดิมที่มีการตัดชำระหนี้แนวนอนจะใช้กับประเภทสินเชื่อผ่อนชำระแบบหลายงวดที่มีทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เกณฑ์นี้ไม่สามารถใช้ได้กับประเภทสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว โดยระหว่างทางไม่ได้มีการจ่ายเงินต้น และค่อยตัดเงินต้นงวดสุดท้าย

ซึ่ง ธปท.ได้ขยายขอบเขตเกณฑ์ โดยกำหนดแนวทางการตัดชำระหนี้ให้สามารถใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเงินต้นงวดเดียว หรือที่เรียกว่า Bullet Loan หรือที่รู้จัก คือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน P/N ด้วย

“ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เชื่อว่ามีการคุยกับแบงก์มาแล้วระดับหนึ่ง แต่เขียนหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น มีทั้งขยายขอบเขตผู้เล่น เช่น P2P และธุรกิจบัตรเครดิต และยกเว้นบางธุรกรรม ครอบคลุมประเภทสินเชื่อมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับลูกค้า ทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องแบกภาระเกินความจำเป็น และเพื่อให้แบงก์เดินตามกรอบใหญ่อย่างเรื่อง Responsible Lending ทั้งก่อนก่อหนี้ เป็นหนี้ และหลังเป็นหนี้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป”

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังไม่เห็นร่างหลักเกณฑ์ ธปท. ที่ออกใหม่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี มองว่าผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตไม่ได้มีการเรียกเก็บส่วนนี้กับลูกค้าอยู่แล้ว เนื่องจากสินเชื่อบัตรเครดิตถูกกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้อยู่ที่ระดับ 16% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ไม่สามารถบวกเพิ่มได้

นันทวัฒน์ โชติวิจิตร
นันทวัฒน์ โชติวิจิตร

“ไม่น่าจะมีผลกระทบกับบริษัท เพราะเราไม่ได้มีเรื่องเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่บริษัทสามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้ จะเป็นไปตามเกณฑ์ ธปท. เช่น ค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งสามารถเรียกเก็บได้เฉลี่ยอยู่ที่ 50-100 บาทต่อรอบบัญชี เป็นต้น”