ตลาดเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ตลาดเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ หลังแบบจำลองคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 4 จะขยายตัว 2.7% ขณะที่ปัจจัยในประเทศ รมช.คลังยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิม

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/21) ที่ระดับ 35.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/12) ที่ระดับ 34.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 4/2566 ทั้งนี้เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันที่ 22 ธ.ค.

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 14.8% สู่ระดับ 1.56 ล้านยูนิตในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.36 ล้านยูนิต เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 9.3% ในเดือน พ.ย.

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังยืนยันโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ยังคงอยู่ในกรอบระยะเวลาเดิมที่วางไว้ คือ ช่วงเดือน พ.ค.ปี 2567 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งคำตอบกลับมาในช่วงต้นปี 2567 ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้เร่งรัดกระบวนการเนื่องจากต้องการให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

โดยทาง รมช.คลังมั่นใจว่า พ.ร.บ.กู้เงินนี้จะผ่านชั้นกฤษฎีกาไปได้ โดยแสดงความมั่นใจว่าโครงการนี้จะต้องเกิดและเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.87-35.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 1.0980/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/12) ที่ระดับ 1.0936/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน พ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.4% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.9% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.6% ในเดือน พ.ย.

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าปรับตัวลงที่ระดับ 0.5% หลังจากปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.1% ในเดือน ต.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 4.2% ในเดือน ต.ค.

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0952-1.0984 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0963/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 143.82/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/12) ที่ระดับ 144.49/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (20/12) ว่าทางญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 7.769 แสนล้านเยน (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในเดือน พ.ย.หลังยอดส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้ยอดส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย.ลดลง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 8.82 แสนล้านเยน (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในเดือน พ.ย.หลังยอดส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ยอดส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย.ลดลง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 8.82 ล้านล้านเยน ขณะที่ยอดนำเข้าเดือน พ.ย.ลดลง 11.9% แตะระดับ 9.69 ล้านล้านเยน ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นลดลง 62.2% จากระดับปีก่อนหน้า เนื่องจากการนำเข้าพลังงานปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ราคาน้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลวที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

เมื่อเทียบรายเดือนดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวลงสู่ระดับ 0.6% ในเดือน พ.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้นที่ระดับ 0.2% ในเดือน ต.ค. โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.32-144.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.37/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (21/12), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐ (GDP) ไตรมาส 3/2566 (22/12), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ย.ของสหรัฐ (22/12), คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (22/12), ยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ย. (22/12) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของรัฐมิชิแกน (22/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/9.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.8/-6.4 สคางค์/ดอลลาร์สหรัฐ