เปิดปีใหม่ บาทปรับตัวแข็งค่า จับตาดูเงินทุนต่างชาติ และปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์

เงินบาท

เปิดปีใหม่ บาทปรับตัวแข็งค่า จับตาดูเงินทุนต่างชาติ และปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์

วันที่ 2 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 มกราคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (02/01) ที่ระดับ 34.26/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ (28/12) ที่ระดับ 34.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการฟื้นตัวของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และการปรับตัวลงของราคาทองคำ

อย่างไรก็ตามระหว่างวัน เงินบาทผันผวนในแนวแข็งค่า เนื่องยังคงได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2567 รวมถึงเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากตลาดเปิดทำการเป็นวันแรกของปี

สำหรับปัจจัยในประเทศ บาทเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งวัน โดยภาพรวมยังคงแข็งค่าขึ้นจากระดับเปิดตลาด เนื่องจากมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยราว 3,972 ล้านบาท และตลาดพันธบัตรเล็กน้อยราว 852 ล้านบาท โดยในปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตามในระยะสั้น ได้แก่การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งอยู่ในกระบวนการรอกฤษฎีกาส่งเรื่องกลับมาให้รัฐบาล โดยคาดว่าจะได้รับสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ปัจจัยในระยะยาว สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า ขยายตัวได้แต่เผชิญความเสี่ยงสูง และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้รับการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ประมาณ 3% เท่านั้น” ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ TDRI เกียรตินาคิน ภัทร และ EIC ว่าเศรษฐกิจไทยอาจตกอยู่ในภาวะซบเซา เปราะบาง และเติบโตช้า ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจอาจจะโตไม่ได้อย่างที่หวัง

ในการแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 นางชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธปท. ในฐานะโฆษก ธปท.กล่าวว่า ปัจจัยภายในประเทศที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่ เอลนีโญ และเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด หลายกลุ่มได้กลับมาถึงจุดก่อนโควิดแล้ว

เพราะฉะนั้น ในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะหลังโควิด ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามี จะส่งผลต่อการปรับตัวของเรามากน้อยแค่ไหน การได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงการผลิตและการบริโภคในประเทศ มากน้อยแค่ไหน

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค ในระยะนั้นภาพใหญ่ยังเป็นการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และคาดว่าตลอดทั้งปีอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลดลงราว 0.75% ร่วมไปถึงการจับตาดูในเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ชะลอตัวลงว่า จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย (Soft Landing) ตามที่นักลงทุนคาดได้หรือไม่

นอกจากนี้ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่าปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศคือเรื่องของ ภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสหรัฐ-จีน, รัสเซีย-ยูเครน และเรื่องในตะวันออกกลาง ทะเลแดง ที่ยังคงยืดเยื้อ ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และการเลือกตั้งไต้หวัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และอาจฉุดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.11/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร และปิดตลาดเช้าวันนี้ (02/01) ที่ระดับ 1.1040/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (28/12) ที่ระดับ 1.1059/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 11.1013/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1032/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (02/01) ที่ระดับ 142.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (28/12) ที่ระดับ 142.39/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยยังคงถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.66-141.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐ ตัวเลขภาคตลาดแรงงานของสหรัฐ รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำเดือนธันวาคม และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.3/-9.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.8/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ